ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยรองศาสตราจารย์แพทย์หญิง นฤชา จิรกาลวสาน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยรองศาสตราจารย์แพทย์หญิง นฤชา จิรกาลวสาน
12440Visitors | [2020-11-20] 

   

 

 

 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง นฤชา จิรกาลวสาน

สาขาอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤต

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศูนย์นิทราเวช

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

                   ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) โรคนี้เกิดจากการที่ท่อทางเดินหายใจส่วนบนมีการอุดกั้น ทำให้ไม่มีลมหายใจผ่านเข้าออก ทำให้มีการตกลงของออกซิเจนหรือมีการที่สมองตื่นตัวเป็นระยะๆขณะหลับ1 ภาวะนี้พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะพบอุบัติการณ์เท่าๆกับผู้ชาย มีข้อมูลล่าสุดที่พบอุบัติการณ์ของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในประชากรณ์ทั้งโลกอยู่ที่ถึงประมาณ 1 พันล้านคน2 ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสเกิดโรคนี้ได้แก่ น้ำหนักมาก ลิ้นใหญ่ เพดานอ่อนต่ำ หรือลิ้นไก่ใหญ่ กระดูกคางที่เล็กหรือค่อนไปด้านหลัง ลักษณะผิดปกติของโครงสร้างจมูก เช่น ลักษณะของจมูกที่แคบ แผ่นกั้นจมูกเบี้ยว โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย โรคความผิดปรกติในระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โรคเส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน โรคไต โรคหัวใจวาย เป็นต้น3 นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไปยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อหายใจส่วนบน ทำให้มีโอกาสยุบตัวได้ง่าย และยาบางกลุ่ม เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยานอนหลับบางตัว ยากลุ่มมอร์ฟีน ซึ่งไปลดการทำงานของกล้ามเนื้อควบคุมระบบทางเดินหายใจส่วนบน ก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคนี้เช่นกัน3 มีข้อมูลวิจัยที่พบว่าฝุ่นขนาดเล็ก ชนิด PM10  มีความสัมพันธ์กับดัชนีการหยุดหายใจและหายใจแผ่ว (apnea hypopnea index หรือ AHI)4

                อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น นอกจากอาการกรนแล้ว อาการอื่นที่พบได้แก่ ประวัติหยุดหายใจจากญาติหรือคู่นอน อาการง่วงนอนตอนกลางวัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะตอนเช้า ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน นอนไม่หลับเมื่อตื่นระหว่างคืน ตื่นขึ้นมาด้วยอาการหายใจไม่ออก อาการง่วงนอนตอนกลางวัน เป็นต้น3 เป็นที่น่าสนใจว่าผู้หญิงมักจะมีอาการมากกว่าผู้ชายที่ระดับ AHI เท่าๆกัน และอาจมาด้วยอาการนอนไม่หลับที่มากว่าผู้ชาย5 โดยทั่วไปการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น จำเป็นต้องตรวจด้วยการตรวจการนอนหลับ (overnight polysomnogram หรือ sleep study)  ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมานอนเพื่อตรวจการนอนหลับในตอนกลางคืน ถ้าผลการตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ก็ควรได้รับการรักษา เพราะโรคนี้พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคร้ายหลายโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ภาวะหัวใจวาย โรคเส้นเลือดสมองอุดตันหรือแตก โรคเบาหวาน ภาวะไขมันพอกตับ โรคซึมเศร้า โรคกรดไหลย้อน โรคเสื่อมสรรถภาพทางเพศ  เป็นต้น3 โดยวิธีการรักษาได้แก่3

1.การใช้เครื่องอัดอากาศอย่างบวก (continuous positive airway pressure หรือ CPAP) วิธีนี้ถ้าเทียบกับทุกวิธีแล้ว ได้ผลดีที่สุดคือเกือบ 100% หลักการคือเครื่องจะอัดอากาศต่อเนื่องเพื่อถ่างท่อทางเดินหายใจส่วนบนให้เปิดออก เครื่องนี้มีการพัฒนามากจนมีขนาดเล็กกระทัดรัด สามารถพกพาได้สะดวก และเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย3

2. อุปกรณ์ทันตกรรม (oral appliance) ซึ่งต้องทำโดยทันตแพทย์ที่มีความชำนาญ โดยอุปกรณ์นี้จะดึงขากรรไกรไปด้านหน้าเพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น โดยทั่วไปจะได้ผลดีในผู้หญิง อายุน้อย ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่ไม่รุนแรง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่เป็นเด่นในท่านอนหงาย และในผู้ป่วยที่ไม่อ้วน6

3. การผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดเพดานอ่อน (uvulopalatopharyngoplasty หรือ UPPP) โดยการผ่าตัดนั้นจะทำโดยการตัดเพดานอ่อน ต่อมทอลซิล ลิ้นไก่ เพื่อทำให้ช่องหายใจกว้างขึ้น การผ่าตัดนี้ได้ผลประมาณ 40% การผ่าตัดกราม (maxillomandibular advancement) หลักการคือการตัดกระดูกขากรรไกรบนและล่าง แล้วเลื่อนไปข้างหน้า พบว่าอัตราความสำเร็จขึ้นกับระดับ AHI ก่อนผ่าตัด7 นอกจากนั้นการผ่าตัดอื่นๆ ได้แก่ การผ่าตัดจมูกที่อาจทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้เครื่อง CPAP ได้ดีขึ้น

4. การนอนตะแคง เวลาเรานอนหงาย แรงโน้มถ่วงโลกก็จะทำให้เนื้อเยื่อหล่นลงมาอุดการหายใจได้ง่าย ทำให้คนที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น มักจะพบว่าเป็นมากที่สุดเวลานอนหงาย8 บางคนถ้าผลการตรวจการนอนหลับพบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นไม่รุนแรงและเป็นเฉพาะช่วงนอนหงาย อาจรักษาโดยวิธีหลีกเลี่ยงการนอนหงาย เช่น วิธีลูกเทนนิส โดยให้ใส่เสื้อที่มีกระเป๋าด้านหน้าโดยใส่กลับหลังให้กระเป๋าไปอยู่ด้านหลัง โดยในกระเป๋านั้นให้ใส่ลูกบอลขนาดประมาณลูกเทนนิส แล้วเย็บปิดไว้ แล้วใส่เสื้อนี้เวลานอน

5. การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย การลดน้ำหนักที่จะสามารถรักษาโรคนี้ได้ หรือทำให้ดีขึ้น ควรจะลดลงอย่างน้อย 5-10 % ของน้ำหนักร่างกาย แต่ในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับปานกลางถึงรุนแรง แนะนำให้ลดน้ำหนักไปพร้อมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก3

6. การหยุดสูดบุหรี่ หยุดดื่มเหล้า และหยุดใช้ยาที่มีผลลดการทำงานของกล้ามเนื้อควบคุมระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ยานอนหลับบางกลุ่ม ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น3

 

เอกสารอ้างอิง

  1. International Classification of Sleep Disorders (ICSD)-3 2014
  2. Benjafield AV, et al. Estimation of the global prevalence and burden of obstructive sleep apnoea: a literature-based analysis. Lancet Respir Med. 2019;7(8):687-98.
  3. คำแนะนำสำหรับการวินิจฉัยและดูแลรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในประเทศไทยสำหรับผู้ใหญ่ พ.ศ.2561
  4. Lappharat S, Taneepanichskul N, Reutrakul S, Chirakalwasan N. Effects of Bedroom Environmental Conditions on the Severity of Obstructive Sleep Apnea. J Clin Sleep Med. 2018 Apr 15;14(4):565-73.
  5. Saaresranta T. Clinical Phenotypes and Comorbidity in European Sleep Apnoea Patients. PLoS One. 2016;11(10):e0163439.27701416
  6. Ferguson KA, et al. Oral appliances for snoring and obstructive sleep apnea: a review. Sleep 2006;29:244-62.
  7. Zaghi S, et al. Maxillomandibular Advancement for Treatment of Obstructive Sleep Apnea: A Meta-analysis. JAMA Otolaryngol Head Neck Surg. 2016;142(1):58-66.
  8. Teerapraipruk B, Chirakalwasan N, et al. Clinical and polysomnographic data of positional sleep apnea and its predictors. Sleep Breath. 2012;16(4):1167-72.