กว่าจะมาเป็นสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยฯ กว่าจะมาเป็นสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยฯ
10583Visitors | [0000-00-00] 

กว่าจะมาเป็นสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย

ในพระบรมราชินูปถัมภ์

 

 

รวบรวมโดย  ศ.กิตติคุณ  พญ.สนใจ     พงศ์สุพัฒน์

 

การกำเนิดของสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยฯ

 

                    วันเดือนปีเกิดของสมาคมฯ ค่อนข้างจะสับสนว่าวันเดือนปีเกิดใดแน่  ถ้าจะนับเอาปีที่มีชื่อของ “สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย”  ปรากฏให้เป็นชื่อที่รู้จักกันในบรรดาแพทย์สตรีในโลก (นานาชาติ)  ก็จะต้องใช้ พ.ศ.๒๔๙๔  เพราะปีนั้นแพทย์หญิงเพียร   เวชบุล  มีชื่อเป็นผู้แทน  (เพียงผู้เดียว)  ที่ไปร่วมประชุมกับสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติในต่างประเทศในนามของสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย 

                                แพทย์หญิงเพียร  เวชบุล  เป็นแพทย์สตรีคนที่สองของประเทศไทย  แต่ไปศึกษาและสำเร็จการศึกษาแพทย์ศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส  แล้วได้กลับมาทำงานในประเทศไทย  ทำคลินิกส่วนตัวในกรุงเทพมหานคร  ท่านรู้จักชอบพอสนิทสนมกับ พญ.ตวงภากร์   ธรรมพานิช  มาก  ชวนไปช่วยทำคลินิกด้วยกัน   และได้ถ่ายทอดเรื่องราวกิจกรรม  และประโยชน์ที่เราจะได้รับหากได้สมัครเป็นสมาชิกของสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติ  และอยากจะชักชวนให้แพทย์สตรีไทยรวมตัวกันก่อตั้งสมาคมแพทย์สตรีไทย  แล้วสมัครเป็นสมาชิกแพทย์สตรีนานาชาติบ้าง  แต่สมัยนั้นพวกเราไม่ประสีประสากับการก่อตั้งสมาคมของเราเอง  เพราะพวกเราก็เป็นสมาชิกของแพทยสมาคมอยู่แล้ว  และไม่สนใจกับการเป็นสมาชิกสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติด้วย  ฉะนั้นในตอนนั้นเมื่อสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติมีข่าวสารใด  กิจกรรมใด  เช่นให้ทุนแพทย์ไปดูงานต่างประเทศ  การแต่งตั้งผู้แทนเข้าประชุมในต่างประเทศ  ก็แจ้งให้ทราบโดยผ่าน พญ.เพียร  เวชบุล มีผู้รู้เรื่องเพียงไม่กี่คน  อีกทั้ง  พญ.เพียร  เวชบุล  เป็นผู้มีประสบการณ์และเพื่อนในต่างประเทศมาก  ท่านจึงเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปร่วมประชุมเป็นประจำในนามของสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย  ติดต่อกับสมาคมแพทย์และองค์กรอื่นๆ  ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔   ทั้งๆที่สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยก็ยังไม่ได้ดำเนินการก่อตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมายแต่ประการใด

                                เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐  Dr.Reid  นายกแพทย์สตรีนานาชาติมาประเทศไทย  พญ.เพียร  เวชบุล  ได้จัดการเชิญแพทย์สตรีไทยจำนวนประมาณ ๖๐  คน มาร่วมประชุมกับ Dr.Reid  ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และ พญ.เพียร  เวชบุล  ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมฯ  หลังจากการประชุมครั้งนั้นแล้ว  มิได้มีการประชุมคณะกรรมการหรืออื่นใดในประเทศอีก  พญ.เพียร  เวชบุล  ได้แจ้งว่าได้ส่งรายชื่อกรรมการอำนวยการไปให้ทางการตำรวจสันติบาลแล้ว  แต่ไม่มีกรรมการท่านใดไปให้ปากคำ  ทางการตำรวจจึงถือว่ายังไม่มีการก่อตั้งสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย

 

 

แรงบันดาลใจในการต่อตั้งสมาคมฯ

และความสำเร็จในการก่อตั้งสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย

 

 

                                เดือนเมษายน  พ.ศ.๒๕๐๓   พญ.มานา  บุญคั้นผล   ได้ไปทัศนศึกษาที่ประเทศเวียดนาม  ได้ไปเยี่ยมดูกิจการของสมาคมแพทย์สตรีเวียดนามที่เมืองไซง่อนด้วย  ท่านมีความประทับใจมาก  เมื่อกลับมาก็ได้กระจายความคิดเห็นไปยังบรรดาเพื่อนแพทย์สตรีเป็นการใหญ่  โดยเล่าให้ฟังว่า “ที่เวียดนามเขามีแพทย์สตรีประมาณ ๒๐  คน เท่านั้น  เขาจัดที่เลี้ยงเด็กที่มีแม่ป่วยเป็นวัณโรค ๒๐-๓๐  คน  หมอเหล่านั้นก็มีงานประจำทำอยู่แล้ว  แต่ยังอุตส่าห์สละเวลาผลัดกันมาดูแล  และยังช่วยกันออกเงินค่าใช้จ่ายอีกด้วย  เขาถามเราว่าสมาคมของเราทำอะไรบ้าง  อายเขาเหลือเกินแทบจะแทรกแผ่นดิน  เรามีแพทย์หญิงตั้งหลายร้อย  เราต้องจัดการเริ่มทำงานกันได้แล้ว”  หลังจากปรึกษาหารือกับเพื่อนสตรีหลายคน  ก็ได้ พญ.ตระหนักจิต  หะริณสุต  เป็นตัวตั้งตัวตี  รับเป็นเลขานุการชั่วคราวในการที่จะก่อตั้งสมาคมฯ ที่จะก่อตั้งใหม่นี้

                                กิจกรรมเริ่มตั้งแต่ พญ.ตระหนักจิต  หะริณสุต  มีจดหมายขอเชิญแพทย์สตรีทั้งหลายมาร่วมประชุมกัน  แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการก่อตั้งสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย  จึงได้มีการประชุมเป็นครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘  มิถุนายน  ๒๕๐๓  ณ  แพทยสมาคม  ศาลาแดง  มีผู้มาร่วมประชุม ๑๗๑  คน  ได้รับมติเห็นชอบสมควรให้ก่อตั้งสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการ  มีระเบียบข้อบังคับของสมาคมฯ  มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบของกรรมการ  และอื่นๆ  ซึ่งจะต้องขึ้นทะเบียนต่อทางกรมตำรวจ

                                ในชั้นต้น  ผู้ที่ริเริ่มในการก่อตั้งสมาคมฯ  ทั้งสองคือ  พญ.ตระหนักจิต  หะริณสุต  และ  พญ.มานา  บุญคั้นผล  และสมาชิกอื่นๆ  ต่างก็มีความกังวลใจอยู่บ้างในการดำเนินการต่อไป  เพราะต่างก็ไม่รู้เรื่องวิธีการก่อตั้งสมาคมและไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องสมาคมด้วย  ได้ปรึกษากันและก็ได้ความคิดกันว่าจะไปขอร้อง  พญ.อรวรรณ   คุณวิศาล  มาช่วยเราเพราะท่านเป็นแพทย์อาวุโส  มีความรู้  มีประสบการณ์จากการเป็นประธานและผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็ก  ซึ่งเพิ่งก่อตั้งมาไม่นาน  ท่านได้กรุณารับเป็นประธานในการก่อตั้งสมาคมฯ ของเรา  ในการประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘  มิถุนายน  ๒๕๐๓  นั่นเอง  ทำให้การประชุมดำเนินไปอย่างมีระเบียบ  และได้ผลตามที่คาดหวัง  นับว่าเป็นโชคดีอย่างมากของพวกเรา   นี่คือบันไดขั้นแรกที่เราจะก้าวต่อไปในการก่อตั้งสมาคมฯ ให้ถูกต้อง

                                ต่อจากการประชุมครั้งใหญ่ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๘  มิถุนายน  ๒๕๐๓  แล้ว  เราก็ตั้งต้นดำเนินการก่อตั้งสมาคมฯ  ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียที  มีงานที่ต้องทำมากมายได้แก่  การเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการสมาคมฯ  มอบอำนาจให้ไปร่างระเบียบข้อบังคับสมาคมฯ  และหน้าที่อื่นๆ  ตามตำแหน่งของกรรมการตามระเบียบสมาคมฯ  ต้องหาที่ตั้งสำนักงานของสมาคมฯ  เพราะต้องระบุชื่อในร่างข้อบังคับของสมาคมฯ   ต้องส่งรายชื่อคณะกรรมการอำนวยการ  เพื่อทำการสอบสวนตามระเบียบ  เมื่อครบถ้วนกระบวนความแล้ว  จึงได้รับอนุญาตเป็นสมาคมที่ถูกต้องตามกฎหมายในเดือนกรกฎาคม  พ.ศ.๒๕๐๓

                                พญ.อรวรรณ   คุณวิศาล  รับเป็นผู้เขียนระเบียบข้อบังคับช่วยดำเนินการจดทะเบียนและได้ให้คำปรึกษาแนะนำที่เป็นประโยชน์อีกเป็นอันมาก  จนกระทั่งได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฯ คนแรกที่เราภาคภูมิใจที่ได้เริ่มต้นด้วยนายกที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม

                                (ช่วงนั้นก็มีคำพูดเข้าหูพวกเราอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมจะต้องมีสมาคมแพทย์สตรี?  ต้องการแยกจากแพทยสมาคมหรือ?  เราขอเรียนว่าไม่มีเจตนาเช่นนั้นแน่นอน)

 

 

สำนักงานและสถานที่บริการแก่ประชาชน

 

                                ในระยะต้นๆ  เรามีปัญหาเกี่ยวกับที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ให้บริการแก่ประชาชนมาก  เพราะเรายังไม่ได้เตรียมตัวเอาไว้ล่วงหน้าเลย  จึงต้องอาศัยใช้สถานที่ของสมาคมอื่นหรือตามแต่จะมีผู้กรุณาให้ความช่วยเหลือจึงต้องระหกระเหินย้ายสถานที่บ่อยครั้ง  จนกว่าจะมีที่ตั้งถาวรอย่างสมัยนี้  รายละเอียดยืดยาวเกินไป  จึงขอรายงานให้ทราบโดยย่อดังต่อไปนี้

1.   ระยะแรกอาศัยเขาอยู่

1.ก  ที่ตั้งสำนักงานสมาคมฯ  อาศัยแพทยสมาคม  เลขที่๒  ศาลาแดง  (ปัจจุบันโรงแรมดุสิตธานี)  ระหว่างมิถุนายน  ๒๕๐๓  - กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔

1.ข  สถานที่เพื่อบริการประชาชน  ที่โรงพยาบาลเซนต์โยเซฟ  สี่พระยา

2.ก  สำนักงานฯ  ที่สมาคมสตรีอุดมศึกษา  เลขที่๔  ซอยอารี  (ซอย๒๖)  สุขุมวิท  ระหว่างกุมภาพันธ์ ๒๕๐๔-มีนาคม  ๒๕๐๖

2.ข  บริการประชาชน  ที่โรงพยาบาลเซนต์โยเซฟ   ตามเดิม

2.ค  ประชุมใหญ่  ที่โรงพยาบาลสงฆ์  และที่เวชศาสตร์เขตร้อน

2.  ระยะที่สอง  สำนักงานสมาคมแพทย์สตรี  สี่แยกหลานหลวง  ถนนจักรพรรดิพงษ์  เป็นอาคารตึกแถวเลขที่ ๑๑๓,  ๒๒๓  และ  ๒๒๕  เป็นทั้งสำนักงานและที่ให้บริการซึ่งใช้ชื่อ “สมาคมแพทย์สตรี”  เป็นครั้งแรก  แต่เรามิได้เป็นเจ้าของสถานที่

                          พณฯ  จอมพลสฤษดิ์  และท่านผู้หญิงวิจิตรา   ธนะรัชต์  ได้กรุณาให้เราใช้สถานที่ดังกล่าว  ซึ่งท่านเช่าไว้จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  เราได้ใช้อาคารนี้เป็นทั้งสำนักงานและคลินิกบริการตรวจโรคต่างๆ  รวมทั้งย้ายคลินิกจากโรงพยาบาลเซนต์โยเซฟ  มาอยู่ที่นี่ด้วย

                          ได้มีพิธีเปิดสำนักงานเมื่อ  ๓  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๕๐๖  โดยท่านผู้หญิงวิจิตรา  ธนะรัชต์

                          พ.ศ.๒๕๑๔  เราได้ทำสัญญาโดยตรงกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  และเช่าเพิ่มอีก ๒  คูหา

                          ใน  ๖-๗  ปีแรก  การประชุมใหญ่ได้จัดที่อาคารนี้  ต่อมาอาคารทรุดโทรมจึงย้ายไปจัดที่อื่น  เช่น  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  โรงแรมเชอราตัน  โรงแรมเวียงใต้

3.  ระยะที่สาม   สำนักงานปัจจุบัน

                          เนื่องจากสำนักงานของสมาคมที่สี่แยกหลานหลวงทรุดโทรมมาก  และไม่มีทางที่จะขยายอีกได้   อีกทั้งไม่มีที่จอดรถ  ต้องเอารถไปจอดในวัดใกล้เคียง  แล้วแพทย์ต้องเดินมาทำงาน  ฉะนั้นที่ประชุมใหญ่ของสมคมจึงได้มีมติเห็นสมควรย้ายสำนักงานเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙  รวมเวลาที่สำนักงานสมาคมอยู่ที่สี่แยกหลานหลวงนาน ๑๖  ปี

                          เราเสาะหาที่ตั้งสำนักงานใหญ่หลายต่อหลายแห่งแต่ไม่สำเร็จ  เพราะเงินที่เราเซ้งอาคารเก่าน้อยเกินไป  ในที่สุด  พญ.ตวงภากร์   ธรรมพานิช ได้ไปติดต่อกับคุณหญิงแพทย์โกศล  ซึ่งท่านมีที่ดินมากมาย  แถวสุขุมวิท   หน้าวัดธาตุทอง   ขอที่ดินประมาณ ๑ ไร่ครึ่ง  ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสมาคมเพื่อสร้างเป็นสำนักงานถาวร  คุณหญิงและสามีของท่านคือคุณหลวงแพทย์โกศล  ชอบพอกับเจ้าคุณพ่อของ  พญ.ตวงภากร์  ธรรมพานิช   รักใคร่สนิทสนมกันมาช้านานพร้อมทั้งท่านทั้งสองไม่มีบุตร  จึงยกที่ดินทั้งหมดให้แก่สภากาชาดไทย   ท่านเห็นชอบว่าสมาคมแพทย์สตรีทำประโยชน์ให้บริการสาธารณกุศลเช่นเดียวกับสภากาชาดไทย  จึงขอแบ่งที่ดินประมาณ  ๑ ไร่ครึ่งราคาประมาณ  ๕๐  ล้านบาท  ยกเป็นสิทธิ์แก่สมาคมแพทย์สตรี  แต่มีข้อแม้ว่าถ้าสมาคมเลิกกิจการเมื่อใดจะนำไปซื้อขายไม่ได้  ต้องคืนกรรมสิทธิ์ให้แก่สภากาชาดไทย

                          ในการยกกรรมสิทธิ์ที่ดินที่แบ่งแยกจากสภากาชาดไทยให้แก่สมาคมนั้น  มีขั้นตอนหลายประการ  คุณหญิงแพทย์โกศล  และ พญ.ตวงภากร์   ธรรมพานิช  ต้องเหน็ดเหนื่อยมิใช่น้อยกว่าจะได้โฉนดมามอบให้สมาคมได้  นิติกรรมที่สำนักงานที่ดินเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.๒๕๒๐  ขอกราบขอบพระคุณท่านทั้งสองเป็นอย่างยิ่งไว้  ณ  ที่นี้ด้วย

 

 

 

 

การก่อสร้างอาคารสมาคม

 

                                การก่อสร้างอาคารใหม่นี้มีแปลนที่เราต้องการเนื้อที่ใช้สอยมาก  ค่าใช้จ่ายคงจะสูง  การตระเตรียมจึงมีดังนี้

                                ๑.  คณะกรรมการหาทุน  พญ.ตระหนักจิต   หะริณสุต   เป็นประธานกรรมการและประกอบด้วยคณะอนุกรรมการจำนวนมาก   ได้เงินบริจาคจากแพทย์สตรีเป็นส่วนใหญ่  และจากญาติมิตรผู้มีจิตกุศลจำนวนมาก

                                ๒.  คณะกรรมการก่อสร้าง  พญ.มรว.พรรณจิต    กรรณสูต   เป็นประธานกรรมการจัดพิธีวางศิลาฤกษ์  ในวันเสาร์ที่ ๒๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๕๒๐  เวลา ๐๕.๔๕  น.  คุณหญิงแพทย์โกศล  ได้กรุณามาเป็นประธานพิธี

                                ๓.  ผู้ทำแปลน  คือนายเมธี   สุนทรรังษี   ของบริษัทอิตัลไทย  ตลอดจนควบคุมงานก่อสร้าง  โดยมิได้คิดค่าเหนื่อยแต่อย่างใด

                                นายศุภชัย   หวั่งหลี   กรรมการผู้จัดการบริษัท   คอนสตรัคชั่นแอนด์เอนจิเนียริ่งเซอร์วิส  จำกัด   คิดค่าก่อสร้างทั้งสิ้นเป็นเงิน  ๓,๓๑๑,๔๒๑.๐๐  บาท   โดยไม่คิดกำไร   โดยนายแพทย์ชัยยุทธ  กรรณสูต  เป็นผู้ติดต่อให้

                                ตึกสมาคมแพทย์สตรีฯ เป็นอาคาร ๓  ชั้น  ชั้นล่างเป็นห้องโถงกลางทำกิจกรรมอเนกประสงค์  มีห้องธุรการ  ห้องตรวจคนไข้  ห้องจ่ายยา  ห้องเจ้าหน้าที่

                                ชั้นสอง  เป็นห้องตรวจภายใน  ๔  ห้อง  ห้องผ่าตัด  ๒  ห้อง  นับว่าทันสมัยมากในสมัยนั้น 

                                ชั้นสาม  เป็นห้องประชุมใหญ่  บรรจุได้ประมาณ  ๒๐๐  คน  ซึ่งพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  เสด็จมาเปิดตึกที่ชั้นนี้  และยังใช้เป็นที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมฯ ๒-๓  ครั้ง  มีที่สำรองสำหรับทำลิฟท์ไว้ด้วย

                                ต้นปี  พ.ศ. ๒๕๒๓  ก็ได้ย้ายสมาคมเข้ามาอยู่ในสำนักงานใหม่  เลขที่ ๙๘๐/๒  ถนนสุขุมวิท  ตรงข้ามวัดธาตุทอง  เป็นอาคารของเราเอง  เป็นตึก ๓  ชั้น  มีเนื้อที่ ๔๐๐  ตารางเมตร

                                สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  องค์พระบรมราชินูปถัมภ์   เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารสมาคมเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๙  มิถุนายน  พ.ศ.๒๕๒๔  เวลา ๑๖.๓๐  น.  และพระราชทานโล่แก่ผู้มีอุปการคุณ  และบริจาคเงินสร้างสมาคม

                                สรุปว่า  การจัดหาสถานที่เพื่อใช้เป็นสำนักงานถาวรของสมาคมในปัจจุบันนี้  เป็นเรื่องใหญ่  เราได้ลงทุนลงแรงกันอย่างมาก  เที่ยวมองหาที่เหมาะสม  พยายามติดต่อกับบุคคลมากมายหลายระดับ  และต้องหาเงินจำนวนมาก  ต้องใช้เวลามากกว่า ๒๐ ปี  และอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของกรรมการ  สมาชิก  ตลอดจนญาติมิตรจึงประสบความสำเร็จ

 

กิจการของสมาคมฯ

 

                                คณะกรรมการอำนวยการของสมาคมได้ยึดถือวัตถุประสงค์ของสมาคม  ๕  ข้อ  ตามที่ทราบกันอยู่แล้ว  เป็นแผนปฏิบัติตลอดเวลา  ๕๐  ปี  ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมีปริมาณและผลงานมากมายจนเหลือที่จะกล่าว   จะขอกล่าวเฉพาะที่ย้อนหลังไปนานๆ  จนอาจลืมกันไปแล้ว  เพื่อเตือนความจำจะเลือกกิจกรรมบางอย่างย่อๆ ดังต่อไปนี้

๑.      คลินิกสุขภาพห้วยขวาง  เดือนพฤศจิกายน  ๒๕๐๙ -  เดือนกันยายน  ๒๕๒๐  ได้เปิดบริการตรวจรักษาโรค  ณ  สมาคมห้วยขวางทุกวันเสาร์

๒.    คลินิกสุขภาพคลองจั่น  เดือนธันวาคม  ๒๕๑๑ -  เดือนธันวาคม  ๒๕๑๗  ระยะที่เพิ่งจะตั้งชมชนใหม่ยังไม่มีสถานบริการทางการแพทย์ที่อยู่ใกล้เคียง  ได้ขอให้เปิดบริการตรวจรักษาโรคที่นั่นทุกวันเสาร์  จนกว่าจะดำเนินการได้เอง

๓.     ตรวจสุขภาพนิสิต  คณะคุรุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ตรวจสุขภาพทั่วไปรวมทั้งตรวจปัสสาวะ  อุจจาระ  ทุกวันเสาร์รวม  ๗  สัปดาห์

๔.     คลินิกสุขภาพจิต  พ.ศ.๒๕๐๖ – ๒๕๐๗  เปิดคลินิกสุขภาพจิต  รับปรึกษาปัญหาต่างๆ  โดยมุ่งบริการแก่นักศึกษาหญิง

๕.     คลินิกโรคผิวหนัง  ที่สำนักงานสมาคม เดือนละ ๒ ครั้งในวันอาทิตย์

๖.      คลินิกตรวจรักษาโรคทั่วไป  ที่สำนักงานสมาคมครึ่งวันตอนเช้าทุกวัน  เว้นวันหยุดราชการ  ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๑  ยังทำการอยู่จนปัจจุบัน  ทั้งนี้เพื่อแบ่งเบาภาระของศูนย์อนามัยวัดธาตุทอง

๗.     บริการวางแผนครอบครัว  ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๖  สมาคมแพทย์สตรีเป็นแห่งแรกที่เปิดบริการนี้  เพราะขณะนั้นรัฐบาลยังไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้  เราให้บริการทุกวันเสาร์  มีผู้มารับบริการทั้งจากใน กทม.  และต่างจังหวัด อีก  ๗-๘  ปีต่อมา  รัฐบาลจึงมีนโยบายนี้  เราจึงงดกิจกรรมนี้ลง  เพราะมีสถาบันอื่นๆ ให้บริการมากแล้ว

๘.     บริการตรวจมะเร็งระยะแรกเริ่มในสตรี  เป็นบริการเริ่มแรกของสมาคม  เริ่มให้บริการเมื่อวันเสาร์ที่ ๕  พฤศจิกายน ๒๕๐๓  โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเซ็นต์โยเซฟ  ถนนสี่พระยา  ให้ใช้สถานที่  และสโมสรซอนต้ากรุงเทพหนึ่งช่วยค่าใช้จ่ายบางส่วน  โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่สำคัญที่สุด  เริ่มต้นก่อนและยั่งยืนที่สุดมาจนกระทั่งบัดนี้  ใช้แพทย์พยาบาลและผู้ช่วย  พร้อมอุปกรณ์การแพทย์มากกว่าโครงการอื่นๆ  ให้บริการในวันเสาร์เดือนละ ๒ ครั้ง  วันเสาร์ที่๑  และที่ ๓  ของเดือน

๙.      หน่วยแพทย์และทันตแพทย์เคลื่อนที่  เริ่มให้บริการตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๗  เพิ่งหยุดกิจกรรมนี้เมื่อ  พ.ศ.๒๕๔๖  เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบาย  “30 บาทรักษาทุกโรค”  ให้บริการแก่ประชาชนในชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร  และปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่  ในต่างจังหวัดใกล้เคียง  บางครั้งปฏิบัติงานในวันอาทิตย์เดือนละ  3 ครั้ง  ภายหลังจึงลดลงเหลือเดือนละ ๒  ครั้ง  มีบริการตรวจรักษาโรค  และส่งผู้ป่วยเรื้อรังไปโรงพยาบาล,  สุขศึกษา,  ฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก,  จ่ายยาคุมกำเนิดแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์,  ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ  ทุกอย่างไม่ต้องเสียเงิน

 

 

กิจกรรมพิเศษ

 

                                ในวาระเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  เราได้จัดรายการหน่วยงานแพทย์เคลื่อนที่เป็นพิเศษร่วมกับสโมสรซอนต้ากรุงเทพหนึ่งเสมอมา  นอกจากการตรวจสุขภาพและรักษาโรคตามเคยแล้ว  เราได้จัดนิทรรศการสุขศึกษา  แจกโปสเตอร์  และแผ่นพับสุขศึกษา  สำหรับเด็กๆ  มีของเล่น  ขนม  อุปกรณ์การเรียน  แจกเด็กก่อนวัยเรียน  ที่มีลักษณะขาดอาหารก็แจกนมผง  ส่วนผู้สูงอายุก็แจกของใช้ส่วนตัว  เช่น  ผ้าห่ม  ผ้าขนหนูเช็ดตัว  สบู่   ยาวิตามินบำรุงร่างกาย

                                ในวาระเฉลิมพระชนม์พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ครบ  ๓ รอบ  เมื่อวันที่  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ. ๒๕๑๑  สมาคมได้ทูลเกล้าถวายตู้ยา  พร้อมทั้งยาประจำบ้าน  ๑๐๐  ตู้  เพื่อพระราชทานแก่โรงเรียนในจังหวัดชายแดน

                                เดือนมกราคม  พ.ศ.๒๕๑๑  คณะกรรมการได้เยี่ยมและนำอาหาร  เสื้อผ้าของใช้ต่างๆ จำนวนมาก  (๓-๔  รถโกดัง)  ไปแจกราษฎรที่ยากจน  ตำรวจ  ทหารชายแดน  และผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์ที่ถูกกักกัน

                                พ.ศ. ๒๕๑๗  อากาศหนาวจัด  สมาคมได้ส่งผ้าห่มไปให้ชาวเหนือ  และชาวอิสานยากจน

                                ส่วนกิจกรรมในวัตถุประสงค์อีก  ๓-๔  ข้อนั้นมีมากมายอีกเช่นกัน  ถ้าจะรายงานแม้แต่เพียงย่อๆ  ก็จะยืดยาวมากเกินไป  ฉะนั้นจะเลือกเฉพาะเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับประวัติของสมาคมโดยตรงได้แก่

 

 

เกียรติประวัติที่สมาคมแพทย์สตรีไทยรับเป็นกรณีพิเศษคือ

                               

                                เมื่อวันที่ ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.๒๕๐๘  สมาคมได้รับพระมหากรุณาทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์

                                พ.ศ.๒๕๐๙  สมาคมได้รับรางวัลที่ ๓  จากสภาสังคมสงเคราะห์ฯ  สำหรับการปฏิบัติงานดีเด่นในการประกวดการปฏิบัติงานขององค์การสมาชิกเอกชนได้โล่และเงิน ๓,๐๐๐  บาท

                                พ.ศ.๒๕๑๑  ได้รับรางวัลที่ ๑  จากสภาสังคมสงเคราะห์ฯ  ในเรื่องเดียวกันได้รับโล่และเงิน ๑๐,๐๐๐  บาท

 

                                “คำประกาศเกียรติคุณในครั้งนั้นว่า”  -  สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย  เป็นตัวอย่างอันดีแสดงถึง  : -

-                   การใช้กำลังหรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม

-                   การมีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับกิจการโดยถูกต้องสมบูรณ์

-                   การสามารถรวบรวมอาสาสมัครเพื่อปฏิบัติงานเป็นหมู่คณะในระยะยาว

-                   การรู้จักแสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอก

 

 

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

 

                                พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๑๓  และ  ๒๕๑๓-๒๕๑๕  พญ.ตวงภากร์  ธรรมพานิช   ได้รับเลือกเป็นอุปนายกสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติภาคเอเชียทั้ง ๒ สมัย

                                พ.ศ.๒๕๑๕-๒๕๑๗  และ  ๒๕๑๗-๒๕๑๙  พญ.คุณมานา   บุญคั้นผล  ได้รับเลือกเป็นอุปนายกสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติภาคเอเชีย  แทน  พญ.ตวงภากร์  ธรรมพานิช

                                พ.ศ.๒๕๑๘  พญ.ตระหนักจิต   หะริณสุต   นายกสมาคมฯ  ในสมัยนั้นได้รับเชิญไปสหรัฐอเมริกา  ในฐานะสตรีผู้นำเอเชีย

                                พญ.ศุภวัจน์    นับถือเนตร  ได้รับทุนการศึกษาข้ามทวีปของสันนิบาตสตรีอเมริกัน  (OEF  of  the  league  of  women  Voters) สำหรับผู้ทำงานอาสาสมัครไปฝึกอบรม  U.S.Seminar  for  Asian  Women  Leader  of  voluntary  organizations  ณ  สหรัฐอเมริกา  เมื่อวันที่ ๑๐  พฤษภาคม  ๒๕๑๘ – ๔  กรกฎาคม  ๒๕๑๘

กรรมการและสมาชิกของสมาคมฯ  หลายคนได้ไปร่วมประชุมการประชุมใหญ่ของสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติในต่างประเทศหลายครั้ง

                                สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยฯ  เป็นที่รู้จักของแพทย์สตรีทั่วโลก  จึงมีแพทย์สตรีนานาชาติมาเยี่ยมชมกิจการของเราเสมอ

                                พ.ศ.๒๕๓๕ – ๒๕๓๗   พญ.สมปอง    รักษาศุข     ได้รับเลือกเป็นอุปนายกสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติภาคเอเชีย

                                พ.ศ.๒๕๔๑ – ๒๕๔๔  พญ.จามรี       เชื้อเพชระโสภณ  ได้รับเลือกเป็นอุปนายกสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติภาคเอเชีย

                                พ.ศ.๒๕๔๗ – ๒๕๕๐  พญ.ภัทริยา    จารุทัศน์   ได้รับเลือกเป็นอุปนายกสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติภาคเอเชีย  และขณะนี้ยังทำหน้าที่ผู้ประสานงาน  (National  Coordinator)  ระหว่าง แพทย์สตรีไทยและแพทย์สตรีนานาชาติ

                                สมาคมแพทย์สตรีฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม  2nd  Central  Asia  Regional  Congress  ของ  MWIA  ในหัวข้อ  Family  Health  Beyond  Year  ๒๐๐๐ เมื่อวันที่ ๓๐  พฤศจิกายน  -  ๒  ธันวาคม  ๒๕๔๓  ที่โรงแรมตวันนากรุงเทพ 

                                และเป็นเจ้าภาพการประชุม  4th  Central  Asia  Regional  Congress  ของ MWIA  ในหัวข้อ  “Women  in  Medicine : Contribution  to  Society”  เมื่อวันที่ ๑๔ – ๑๖  มิถุนายน  ๒๕๕๐  ที่โรงแรมตวันนากรุงเทพ

                                ประวัติของสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย   ในพระบรมราชินูปถัมภ์  เท่าที่เขียนมาข้างต้นนี้  ถึงแม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในระยะต้นของเวลา  ๕๐ ปีที่เราก่อตั้งสมาคมมา  ยังมีเรื่องราวอีกมากที่ไม่ได้กล่าวถึง  แต่ก็พอจะมองเห็นว่า  พวกเรามีความอดทน  มานะบากบั่น  มีความเข้มแข็ง  มีวินัย  มีความรักสามัคคี  มีคุณธรรม  มีปัญญา  มีความเมตตากรุณา  มีความเสียสละ  ไม่เห็นแก่ตัว  มีความจริงจัง  และจริงใจ  จึงได้มีผลงานที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนหลายพวก  หลายฝ่าย  ทุกเพศ  ทุกวัย  ได้รับการบำบัดทุกข์บำรุงสุข  จึงได้รับเกียรตินิยมทั้งในชาติไทย  และนานาชาติ  มีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับจนถึงปัจจุบันนี้  จนเห็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม  ฉะนั้นขอยุติการรวบรวมประวัติของสมาคมฯ  แต่เพียงเท่านี้  คงจะมองเห็นภาพความเจริญก้าวหน้าของสมาคมฯ ไม่ต้องคืนสิทธิ์ในที่ดินให้แก่สภากาชาดไทยแน่นอน  ขอให้ผู้ทำแต่ความดีจงมีแต่ความสุข  ความเจริญในทุกกาล  และสถานตลอดไป

 

(รวบรวมบทความบางส่วนจากวารสารข่าวแพทย์สตรีประจำปี  ๒๕๒๗-๒๕๒๘)

หมายเหตุ   แพทย์สตรีอาวุโส  ผู้ที่ก่อตั้งสมาคมฯ ปัจจุบันท่านถึงแก่กรรมแล้ว  คือ  พญ.คุณเพียร  เวชบุล   ศ.เกียรติคุณ   พญ.คุณหญิงตระหนักจิต  หะริณสุต  พญ.คุณหญิงตวงภากร์   ธรรมพานิช  ศ.กิตติคุณ พญ.คุณมานา  บุญคั้นผล  ส่วน  พญ.คุณอรวรรณ   คุณวิศาล  และ  ศ.กิตติคุณ  พญ.สนใจ   พงศ์สุพัฒน์  ยังเป็นที่ปรึกษาของสมาคมฯ 

นายกสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยฯ

อดีตถึงปัจจุบัน

 

          1. พญ.คุณอรวรรณ        คุณวิศาล                            (พ.ศ.2503-2505)

          2. พญ.คุณหญิงตวงภากร์          ธรรมพานิช                (พ.ศ.2505-2513)

          3. ศ.เกียรติคุณ พญ.คุณหญิงตระหนักจิต   หะรินสุต         (พ.ศ.2513-2519)

          4.  ศ.กิตติคุณ พญ.คุณมานา       บุญคั้นผล               (พ.ศ.2519-2525)

          5. ศ.กิตติคุณ พญ.สนใจ         พงศ์สุพัฒน์                  (พ.ศ.2525-2531)

          6.  ศ.เกียรติคุณ พญ.คุณหญิงสุดสาคร     ตู้จินดา     (พ.ศ.2531-2535)

          7.  พญ.อนงค์     สิริยานนท์                                (พ.ศ.2535-2541)

          8.  ศ.เกียรติคุณ พญ.สมปอง       รักษาศุข         (พ.ศ.2541-2543)

          9.  พญ.บุญล้วน     พันธุมจินดา                          ( พ.ศ.2543-2545)

          10. ศ.กิตติคุณ  พญ.สดใส      เวชชาชีวะ           (พ.ศ.2545-2547)

          11. พญ.สุวณี      รักธรรม                                    (พ.ศ.2547-2549)

          12. รศ.พญ.พรพันธุ์     บุณยรัตพันธุ์                      (พ.ศ.2549-ปัจจุบัน)