แพทย์สตรีตัวอย่าง 2556 (แพทย์หญิงเพทาย แม้นสุวรรณ) แพทย์สตรีตัวอย่าง 2556 (แพทย์หญิงเพทาย แม้นสุวรรณ)
10938Visitors | [0000-00-00] 

 แพทย์สตรีตัวอย่างประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖

 

   แพทย์หญิงเพทาย  แม้นสุวรรณ

        แพทย์หญิงเพทาย  แม้นสุวรรณ
 
ประวัติส่วนตัวและครอบครัว
 
                        แพทย์หญิงเพทาย   แม้นสวุรรณ   เกิดเมื่อวันที่  ๑๖  สิงหาคม  ๒๔๖๘ ที่บ้านฝั่งธนบุรี  ริมคลองสำเหร่  มีพี่น้อง  ๖  คน  ยังมีชีวิตอยู่  ๔  คน  มีน้องสาวที่เป็นสูตินรีเวช  โรงพยาบาลราชวิถี  และเคยมาช่วยงานของสมาคมอยู่หลายปีตอนตั้งสมาคมใหม่ๆ
 
ประวัติการศึกษา
 
-                   เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัฒนะศึกษาอยู่ที่ตลาดพลู
 
-                   ชั้นมัธยมที่โรงเรียนศึกษานารีและอัสสัมชัญคอนแวนต์
 
-                   เตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ๒ ปี 
 
เป็นนักเรียนเตรียมรุ่น ๓
 
-                   เตรียมแพทย์ ๒ ปี  ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
-                   เรียนแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 
             เมื่อเริ่มเรียนปีแรกได้ เกิดสงครามญี่ปุ่นบุกที่ประเทศไทย และฝ่ายตรงข้ามมาทิ้งระเบิดที่กรุงเทพฯ  ทางมหาวิทยาลัยเลยให้ปี ๑ หยุดเรียนชั่วคราวพอสงครามสงบจึงได้กลับมาเรียนใหม่   จบการศึกษาปี  พ.ศ. ๒๔๙๒  เป็นแพทย์ศิริราชรุ่น  ๕๔   ได้เข้าอบรมเป็นแพทย์เด็กที่แผนกเด็กโรงพยาบาลศิริราช  ๒  ปี       
 
-                   ได้ทุน   British  councilไปศึกษาและดูงานที่ประเทศอังกฤษที่  Institute of Child Health  , Great Ormond St. และ   Liverpool School of Tropical medicine
 
-                   ดูงานโรคเด็กและเข้าอบรมระยะสั้นที่   Children  medical   center  Boston ,   U.S..A.
 
-                   ดูงานโรงพยาบาลเด็กที่  Tokyo  ประเทศญี่ปุ่น
 
ประวัติการทำงาน  อดีต  ปัจจุบันและเกียรติประวัติ
 
            หลังจากจบการฝึกอบรมที่แผนกเด็ก   โรงพยาบาลศิริราชแล้ว   ได้สมัครเข้ารับราชการ   กรมการแพทย์   กระทรวงสาธารณสุข     เริ่มปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก   ได้ไปเปิดแผนกเด็กมีเตียงรับคนไข้  ๓๐ เตียง  ต้องรับผิดชอบคนไข้ที่ห้องตรวจภายนอกและคนไข้ที่รับไว้    โรคที่พบคล้าย ๆ กับในกรุงเทพฯ และพบโรคเกี่ยวกับพยาธิ  ซึ่งทางกรุงเทพฯไม่ค่อยมี ได้เปิดแผนกเด็กดี รับตรวจสุขภาพเด็กที่คลอดในโรงพยาบาลและคลอดจากภายนอก   แนะนำเรื่องการเลี้ยงดูและให้วัคซีนป้องกันโรคด้วย  ได้รับราชการอยู่  ๑ ปี  จึงได้ย้ายกลับมายังโรงพยาบาลหญิง   ซึ่งเพิ่งเปิดทำการได้ไม่ถึงปี  มีอาจารย์เสม    พริ้มพวงแก้ว  เป็นผู้อำนวยการและอาจารย์อรวรรณ  คุณวิศาลเป็นหัวหน้าแผนก   รับผิดชอบเด็กที่คลอดใหม่และผู้ป่วยเด็กที่  OPD   มีเตียงคนไข้ เริ่มต้น  ๒๕  เตียงอยู่ในตึกอายุรกรรม  ต่อมาไม่นานมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นจึงได้งบประมาณสร้างโรงพยาบาลเด็ก ที่ถนนราชวิถี   แต่ยังใช้งบประมาณร่วมกับโรงพยาบาลหญิง จนใน  พ.ศ.  ๒๕๑๗ ได้แยกออกจากโรงพยาบาลหญิงอย่างเด็ดขาดและขึ้นต่อกรมการแพทย์โดยตรง    ระหว่างที่ทำงานนอกจากงานด้านให้บริการตรวจรักษาคนไข้แล้ว   ได้เปิดคลินิกเด็กดีอาทิตย์ละ ๒ วัน  ได้จัดตั้งและปรับปรุงแผนกต่าง ๆ ของโรงพยาบาล  มีคลินิกโรคต่าง ๆ  เช่น  คลินิกจิตเวช , คลินิกโรคสมอง เป็นต้น   ได้จัดให้มีการสอนหนังสือแก่เด็กป่วยเรื้อรังต้องอยู่โรงพยาบาลนาน   เช่นโรคไต , โรคหัวใจ,  เด็กพวกนี้จะขาดเรียนนาน ๆ  ได้ขอครูจากกระทรวงศึกษาธิการมาช่วยสอน     
 
เนื่องจากขณะนั้นมีปัญหาเรื่องหมอเด็กยังมีไม่พอแก่ความต้องการของประเทศ   จึงได้เกิดความคิดว่าควรจะจัดมีการอบรมโรคเด็ก  ได้จัดการอบรมเป็นหลักสูตรๆละ ๑-๒ สัปดาห์ แก่แพทย์และพยาบาลตามต่างจังหวัด ในหัวข้อต่าง ๆ เช่น  ปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก, ปัญหาเด็กเกิดใหม่, ปัญหาทางศัลยกรรมเด็ก  และมีการอบรมแก่แพทย์ที่จะออกไป ปฏิบัติงานต่างจังหวัดซึ่งกรมการแพทย์ส่งมา 
 
จนปี  พ.ศ.  ๒๕๐๒   ยูซอมให้ทุนและส่งผู้เชี่ยวชาญโรคเด็ก  Prof.  P.  Rass mussen  จากUtah University  มาเป็นที่ปรึกษาและวางหลักสูตรร่วมกับกรมการแพทย์และมหาวิทยาลัย   โรงพยาบาลเด็กได้รับเลือกให้เป็นที่จัดอบรม  ได้เข้าร่วมรับผิดชอบหลักสูตรการอบรมนี้   สิ้นปีมีการสอบและประเมินผล   แพทย์ที่เข้าอบรมส่วนใหญ่จะส่งมาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ของกรม   ทำได้  ๒ ปี ในปี ๒๕๐๔ ยูซอมงดให้ทุน  แต่ทางโรงพยาบาลยังดำเนินการต่อไปจนถึงปี  ๒๕๑๔  มีแพทย์จบการอบรม   ๑๐๖ คน 
 
             พ.ศ. ๒๕๑๔  เริ่มมีการก่อตั้งแพทย์สภา  โรงพยาบาลเด็กจึงงดการสอนแบบเดิม  แต่มาใช้หลักสูตรของแพทย์สภาเป็นหลักสูตร  ๓  ปี   แล้วมีการสอบเพื่อวุฒิบัตรกุมารแพทย์ ของแพทย์สภา เมื่อครบเกษียณอายุ พศ.๒๕๒๘ มีแพทย์ผ่านการอบรม  ๒๐๑ คน (ปัจจุบันอบรมรุ่นที่ ๔๓  และมีแพทย์ผ่านการอบรม  ๕๖๘  คน)
 
การทำงานในปัจจุบันหลังเกษียณอายุยังเป็นที่ปรึกษาของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  และมาช่วยสอนแพทย์ประจำบ้าน   สัปดาห์ละ  ๓  วัน  และมาช่วยงานของมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก   โดยเป็นกรรมการเริ่มก่อตั้งและปัจจุบันนี้เป็นประธานมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก
 
เกียรติประวัติ
 
-                   ได้รางวัลศิษย์เก่าศิริราชดีเด่น ปี พ.ศ.๒๕๕๒
 
-                   ได้รับรางวัล กุมารแพทย์ดีเด่น ของ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย  พ.ศ. ๒๕๕๕
 
-                   กรรมการสมาคมกุมารแต่เริ่มก่อตั้งจนเป็นนายกสมาคม  ๒ ครั้งและเป็นที่ปรึกษามาจนถึงปัจจุบัน
 
-                   กรรมการวิทยาลัยกุมารแพทย์   กรรมการ Board เด็ก  
 
-                   ร่วมมือกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน   มหาวิทยาลัยมหิดลในหลักสูตร Dip. Trop. Med   และ Hygiene และ  M. S in Trop. Med   โดยร่วมในการสอนทั้งภาคปฏิบัติและบรรยายและเป็นกรรมการสอนปากเปล่า
 
ผลงานและความภาคภูมิใจ
 
                        ได้ทำงานเป็นหมอเด็กสมความตั้งใจ  และได้ทำงานต่าง  ๆ ทางเด็กตามที่เคยตั้งใจไว้  เช่น  การสอนแพทย์โรคเด็ก  ดีใจที่ได้เห็นแพทย์เหล่านี้ได้ออกไปปฏิบัติงานตามต่างจังหวัดซึ่งขาดแคลน   บางท่านได้ออกไปเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ก็มี บางท่านก็ทำงานศึกษาโรคของเด็กจนเป็นผู้เชี่ยวชาญ  มีผลงานเป็นที่น่าประทับใจ    ภูมิใจที่เห็นโรงพยาบาลเด็ก  (สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี)  ได้เติบโตและเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดียิ่ง
 
                        คติประจำใจในการทำงาน “ ทำให้ดีที่สุด”
 
ประวัติเพิ่มเติมจากแพทย์หญิงศิราภรณ์  สวัสดิวร  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
 
อาจารย์เพทายเป็นกุมารแพทย์ ที่ทุ่มเท ทำงานดูแลรักษาโรคเด็ก ตั้งแต่ เริ่มต้นทำงาน จนถึงปีปัจจุบัน  โดยหลังวัยเกษียณ ท่านยังคงมา สอน นักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้านกุมารเวชศาสตร์ ของสถาบันอย่างสม่ำเสมอ โดยมีวิธีการสอน ที่สามารถทำให้ลูกศิษย์ ได้เรียนรู้ภาพรวมการ ดูแลรักษาคนไข้แบบองค์รวม พร้อมแทรกจริยธรรมและ มารยาททางการแพทย์  
 
 อาจารย์เพทายได้ทำงานทั้งด้านการรักษาพยาบาลและการเป็นผู้บริหาร คือเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็ก ในยุคที่โรงพยาบาลเด็กแยกตัวออกมาจากโรงพยาบาลราชวิถีเต็มตัว เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘  ( รพ เด็ก มีสถานภาพเป็น รพ เด็ก ใน รพ ราชวิถี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗)   ได้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการจนเกษียณอายุราชการ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๒๘  ในระหว่างที่ท่านเป็นกุมารแพทย์ และเป็นผู้บริหารของ รพ เด็ก ท่านได้ ริเริ่ม และพัฒนางานด้านการเรียนการสอน และการบริหาร จัดการ ด้านการดูแลสุขภาพเด็กหลายประการ อาทิ
 
·       ประสานริเริ่ม การจัดระบบการศึกษาหลังปริญญา ผลิตกุมารแพทย์ ที่เรียกว่า Pediatric Residency Training เป็นครั้งแรกในประเทศไทย  โดยความร่วมมือ ของ กรมการแพทย์   คณะแพทย์ ศิริราชพยาบาล และคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ถือ เป็นต้นแบบการฝึกอบรมด้านกุมารเวชศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน
 
·       ประสานริเริ่มการจัดอบรมระยะสั้น เกี่ยวกับปัญหาโรคเด็กที่พบบ่อย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐   ซึ่งในปัจจุบัน มีการดำเนินการใน หลายๆ สถาบันฯ โดยหลักสูตร ที่ยืนยาวมาตั้งแต่สมัยอาจารย์ คือ หลักสูตร ปัญหาโรคที่พบบ่อยในเด็ก  ในทารกแรกเกิด และ กุมารศัลยศาสตร์ 
 
·       การประสาน การพัฒนา การฝึกอบรมวิชากุมารเวชศาสตร์  ใน สถาบันฯอื่นๆ เช่น ในคณะสาธารณสุขศาสตร์ 
 
·       ท่านเป็นผู้รายงานผู้ป่วยโรค Phenylketouria เป็นรายแรกของประเทศไทย  และมีผลงานวิจัยโรคเด็กในเขตร้อนอื่นๆ อาทิ โรคไข้ไทฟอยด์  โรคไข้เลือดออก
 
·       ท่านได้ พัฒนาระบบคลินิกเฉพาะโรค ต่างๆ และบริหารจัดการระบบ การเก็บข้อมูล เวชระเบียน ต่างๆ  ในโรงพยาบาลเด็ก ขณะนั้น
 
·       ท่านเป็นกรรมการ ชุดก่อตั้ง สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย โดยในระยะนั้น สถานที่ตั้งของสมาคมอยู่ที่ ตึกนริศราจักรพงศ์  ใน โรงพยาบาลเด็ก และ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย 2 ครั้ง
 
อาจารย์แพทย์หญิงเพทาย แม้นสุวรรณ เป็น อาจารย์อาวุโส  ที่มีความรอบรู้ ทั้งด้านวิชาการการบริหาร อย่างลึกซึ้ง  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็ก อยู่นานถึง ๑๐ ปี   มีความคิด ริเริ่ม พัฒนางานในความรับผิดชอบที่ดี เป็นต้นแบบของ การพัฒนาในยุคต่อๆมา  นอกจากท่านจะมีการพัฒนางานวิชาการ ควบคู่ไปกับ ด้านการบริหารอย่างต่อเนื่องแล้ว  ท่านยังเป็นเป็นอาจารย์ผู้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นเลิศ เป็นที่รักและนับถือ ของกุมารแพทย์ ทั่วไป  นับเป็นแพทย์สตรีตัวอย่าง ที่สมาคมแพทย์สตรีความภาคภูมิใจ และขอเชิดชูไว้ ในโอกาส นี้