แพทย์สตรีตัวอย่าง2557 รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงประสบศรี อึ้งถาวร แพทย์สตรีตัวอย่าง2557 รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงประสบศรี อึ้งถาวร
12401Visitors | [0000-00-00] 

แพทย์สตรีตัวอย่างประจำปี ๒๕๕๗

ชื่อ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง ประสบศรี (สถาปิตานนท์) อึ้งถาวร

คุณวุฒิการศึกษา
 
-       แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
 
พ.ศ. ๒๕๐๗
 
- Diplomate,American Board of Pediatrics,FAAP, สหรัฐอเมริกา และ Fellowship of the Royal College of Physiciansand Surgeons of Canada, แคนาดา พ.ศ. ๒๕๑๓
 
-       อว. สาขากุมารเวชศาสตร์ แพทยสภา พ.ศ. ๒๕๑๙
 
-       อว. สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว พ.ศ. ๒๕๔๑
 
ตำแหน่ง/หน้าที่ปัจจุบัน
 
-       อาจารย์พิเศษภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
-       ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
 
-    อุปนายกและกรรมการแพทยสภา*
 
-       ที่ปรึกษาราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
 
-       กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการบริหารคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
-       กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
 
-       กรรมการสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
 
-       กรรมการศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทยสภา
 
-       อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข
 
*   ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ของแพทยสภา ดังต่อไปนี้
 
-    คณะอนุกรรมการให้คำปรึกษาทางวิชาการของแพทยสภา วาระ ๒๕๕๖-๒๕๕๘ 
 
-    คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ สาขากุมารเวชศาสตร์
 
-    คณะอนุกรรมการกลางการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน
 
-    คณะอนุกรรมการ Medical Councils Network of the WHO South-East Asia Region
 
-    คณะอนุกรรมการวิเทศสัมพันธ์และนโยบายทางการแพทย์ระหว่างประเทศ
 
-    คณะอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม นิสิตนักศึกษาแพทย์
 
-    คณะอนุกรรมการกลั่นกรองจริยธรรมวาระ ๒๕๕๖-๒๕๕๘ 
 
-    คณะอนุกรรมการสรรหาแพทย์ดีเด่นของแพทยสภา วาระ ๒๕๕๖-๒๕๕๘ 
 
-    คณะอนุกรรมการดำเนินการในส่วนภาคีวิชาชีพด้านสุขภาพเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ป่วย
 
-    คณะอนุกรรมการพิจารณารับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตต่างประเทศ
 
-    คณะอนุกรรมการกลั่นกรองวิชาการ
 
-    คณะอนุกรรมการพิจารณาสนับสนุนการเพิ่มพูนทักษะแพทย์ตามโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ
 
-    คณะอนุกรรมการรับรองสถาบันและจัดสรรแพทย์ฝึกหัด
 
-    คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ ชุดที่สอง
 
-    คณะอนุกรรมการบริหารแพทยสภา
 
ประวัติการทำงาน
 
-       รับราชการภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นหัวหน้าหน่วยกุมารเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ เกษียณอายุราชการ พ.ศ. ๒๕๔๓ 
 
ประสบการณ์การทำงาน
 
-       รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
 
-       กรรมการบริหารคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
-       ประธานคณะกรรมการการศึกษาต่อเนื่องคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
-       กรรมการสโมสรอาจารย์และประธานศูนย์รับเลี้ยงเด็กทารกและวัยก่อนเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
-       ประธานราชวิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย
 
-       อุปนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
 
-       อุปนายกและรองเลขาธิการแพทยสภา
 
-       ประธานคณะทำงานตติยภูมิทารกแรกเกิด สปสช.
 
-       ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎรและที่ปรึกษากรรมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภา
 
ประสบการณ์ด้านบริการสังคม
 
-       เป็นวิทยากรและผู้ดำเนินรายการผ่านสื่อในการให้ความรู้การดูแลสุขภาพเช่น รายการปัญหาชีวิตและสุขภาพทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙  และรายการเพื่อลูกรักทางสถานีวิทยุจุฬาฯเป็นต้น
 
-       เป็นวิทยากรในการอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ได้แก่ ครู ผู้ปกครอง เป็นต้น
 
-       จัดพิมพ์หนังสือคู่มือการดูแลเด็ก เรื่อง ดวงใจพ่อแม่ สำหรับประชาชน
 
ผลงานทางวิชาการ
 
-       เขียนตำราเรื่อง สุขภาพเด็ก: การดูแลสุขภาพเด็กยามปกติ
 
-       เอกสารการสอนชุดวิชาอนามัยแม่และเด็กและการวางแผนครอบครัวเรื่อง ปัญหาสุขภาพและโรคที่พบบ่อยในเด็กสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
 
-       บทความเรื่อง การดูแลสุขภาพเด็ก ในตำรากุมารเวชศาสตร์ เล่ม ๑ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์      คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
-       ผลงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเด็กปกติ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กเช่น การทดสอบทูเบอร์คูลินในเด็ก เป็นต้น
 
รางวัลที่ได้รับ                                                                
 
-       กุมารแพทย์อาวุโสดีเด่นราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย                 
 
-       บุคคลต้นแบบการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 
-       ศิษย์เก่าดีเด่น โรงเรียนสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
 
ผลงานเด่นในด้านต่าง ๆ
 
๑)    งานดูแลสุขภาพเด็กและการเรียนการสอนในช่วงรับราชการที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
 
-       เป็นผู้รับผิดชอบการเรียนการสอนกุมารเวชศาสตร์ทั่วไป ด้านการดูแลสุขภาพเด็กปกติ ด้านกุมารเวชศาสตร์ชุมชน และด้านกุมารเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมมาโดยตลอด ได้เน้นให้นิสิตมีประสบการณ์หลายมิติ ทั้งในโรงพยาบาล ในชุมชนที่พักอาศัย ในสถานบริการสุขภาพเด็กวัยต่างๆ สถานสงเคราะห์เด็กด้อยโอกาส-เด็กพิการ ให้ได้เห็นและรับรู้สภาพที่เป็นจริง เพื่อสามารถเชื่อมโยงปัญหาสุขภาพของคนไข้เด็กกับบริบทของครอบครัว ผู้เลี้ยงดู รวมทั้งปัญหาสังคมที่แวดล้อมตัวเด็ก ตัวอย่างเช่น การเยี่ยมบ้านเด็กป่วย การมอบหมายให้นิสิตเป็นหมอประจำตัวเด็กในชุมชน ติดตามดูแลพัฒนาการเด็กรายเดือนตลอดการหมุนเวียนผ่านภาควิชาฯ และมีนำเสนอ/อภิปรายถึงปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันกับอาจารย์ แม้ในระยะหลังอาจารย์แพทย์ท่านอื่น ๆ จะต้องทุ่มเทพัฒนางานในส่วนของ subspecialty มากขึ้น แต่อาจารย์ก็ยังคงเป็นหลักในการเรียนการสอนกุมารเวชศาสตร์ทั่วไป โดยเฉพาะด้านกุมารเวชศาสตร์ป้องกัน สังคม และชุมชน และหลังจากเกษียณอายุราชการ ก็ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษช่วยดำเนินการเรียนการสอนแก่นิสิตแพทย์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
 
-       เป็นที่ปรึกษาและกรรมการของกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการอนามัยแม่และเด็กรวมถึงการให้วัคซีนป้องกันโรค (โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน: Expanded Program for Immunization) โดยเฉพาะการบูรณาการการดูแลเด็กในอายุต่างๆให้สอดคล้องกัน มีการพัฒนาสมุดสุขภาพประจำตัวเด็ก กำหนดการให้วัคซีนในอายุต่างๆและนำข้อแนะนำในส่วนของสาธารณสุขของประเทศโดยรวมมาประยุกต์สอนในหลักสูตรโรงเรียนแพทย์ เพื่อให้นิสิตแพทย์สามารถเข้าใจและนำความรู้ทางทฤษฎีไปปรับใช้เมื่อออกไปทำงานใช้ทุนหรือทำงานในโรงพยาบาลต่างจังหวัดเช่นเปรียบเทียบโปรแกรมการให้วัคซีนสำหรับเด็กไทยของกระทรวงสาธารณสุขกับที่แนะนำในเด็กแต่ละคนในปัจจุบันอาจารย์ยังดำรงตำแหน่งเป็นอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
 
-       เป็นผู้ร่วมจัดตั้งโครงการรับเลี้ยงเด็กวัยทารกและเด็กวัยก่อนเรียนสำหรับบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของสโมสรอาจารย์ โดยรับผิดชอบด้านการจัดการสุขภาพเด็ก ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๐ เพื่อให้พ่อแม่ที่มาทำงานที่มหาวิทยาลัยสามารถนำบุตรมาฝากเลี้ยงที่โครงการบ้านเด็กจุฬาฯมารดาสามารถมาให้นมแม่ระหว่างวัน ทำให้บุคลากรมีขวัญกำลังใจทำงานให้กับองค์กรมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินการอยู่และเป็นแบบอย่างให้มีโครงการเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นต่อๆมาที่สถาบันอื่นๆ นอกจากนั้นยังได้สนับสนุนให้มีโครงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ สำหรับบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งดำเนินการมาจนปัจจุบันเช่นเดียวกัน โดยมีหน่วยโภชนาการเด็กเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
 
๒) งานทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
 
-       เป็นกรรมการสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมาตลอดเวลาที่รับราชการ รับผิดชอบด้านการให้ความรู้ต่อประชาชนด้านสุขภาพเด็ก จัดงานวันเด็ก อบรมพ่อแม่เป็นระยะๆและทำหนังสือชุดสำหรับประชาชน เป็นคู่มือการเลี้ยงเด็กปกติและเด็กป่วย ถวายในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา เพื่อพระราชทานให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ
 
-    เป็นกรรมการราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งประธาน ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของราชวิทยาลัย งานที่ได้รับผิดชอบดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่
 
:    การพัฒนาหลักสูตรกุมารเวชศาสตร์ชุมชนสำหรับนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน
 
:    การออกข้อแนะนำกำหนดแนวทางการดูแลสุขภาพเด็กไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ และทบทวน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗ ทั้งนี้เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่หรือบริบทต่าง ๆ
 
:    การพัฒนางานการศึกษาต่อเนื่องด้านกุมารเวชศาสตร์ให้เป็นระบบสามารถตรวจสอบได้ พร้อมกันกับที่แพทยสภาจัดทำ โดยนับเฉพาะผลงานด้านกุมารเวชศาสตร์เท่านั้น ทั้งนี้ได้ส่งเสริมเรื่องการศึกษาต่อเนื่อง โดยให้รางวัลไม่ใช้การบังคับ
 
:    การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมกุมารแพทย์ทั่วไปและการประเมินผลต่างๆให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของแพทยสภา โดยผ่านคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ ซึ่งเสนอแต่งตั้งโดยราชวิทยาลัยฯ และอาจารย์ได้ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯและที่ปรึกษามาโดยตลอด
 
๓)  งานทางแพทยสภา
 
เป็นกรรมการแพทยสภาประเภทเลือกตั้งติดต่อหลายสมัยจนถึงปัจจุบัน เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการและอุปนายก ปัจจุบันร่วมเป็นคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการหลายคณะ ดังรายละเอียดข้างต้น งานที่รับผิดชอบส่วนใหญ่ได้แก่งานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแพทยศาสตร์ ดังต่อไปนี้
 
:    สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรและเกณฑ์มาตรฐานสำหรับสถาบันผลิตแพทย์รวมถึงการประเมินสถาบันผลิตแพทย์ในต่างประเทศในภูมิภาค เพื่อการพิจารณารับรองบัณฑิตแพทย์ไทยมี่จบจากสถาบันนั้น ๆ ทั้งนี้ก็ได้ให้การสนับสนุนการผลิตแพทย์เพิ่มภายในประเทศด้วยการเปิดสถาบันผลิตแพทย์แห่งใหม่ทั้งภาครัฐและเอกชน
 
:    สนับสนุนการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการประเมินความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และการบริหารจัดการให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ
 
:    สนับสนุนให้มีการปฏิบัติงานหลังปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตในโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะและแพทย์ฝึกหัด สำหรับบัณฑิตแพทย์ประเทศไทยและแพทย์ที่จบจากต่างประเทศตามลำดับ โดยให้ได้ฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยควบคุมดูแล ก่อนที่จะไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งต้องทำงานด้วยตัวเองเกือบทั้งหมด
 
:    พัฒนาการบริหารงานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยได้จัดทำโปรแกรมและแบบฟอร์มสำหรับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในระดับต่าง ๆ ของสถาบันที่เปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ตลอดจนโปรแกรมสำหรับคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ
 
๔)  งานด้านการแพทย์การสาธารณสุขสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
 
เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอนุกรรมการพัฒนางานหลักประกันสุขภาพหลายคณะ งานที่สำคัญ ได้แก่
 
:    งานพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการของหน่วยบริการในเครือข่าย สปสช.ผ่านการพัฒนาช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนด้านต่างๆให้ประชาชนได้เข้าถึง เช่นศูนย์ประสานงานหลักประกันฯ ในสถานพยาบาล หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระภาคประชาชน ตลอดจนวางแนวทางการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนผ่านคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดและส่วนกลางรวมทั้งการพัฒนาเกณฑ์การตัดสินให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นให้เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ
 
:    การพัฒนารูปแบบการบริการปัญหาสุขภาพทีซับซ้อนรุนแรงด้วยระบบเครือข่ายบริการให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างมีคุณภาพเริ่มจากการเป็นประธานคณะทำงานพัฒนาวิชาการตติยภูมิเฉพาะด้านทารกแรกเกิด ได้พัฒนาการบริหารเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ โดยได้พัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการทุกระดับทั้งในระดับแม่ข่ายและลูกข่ายจากโรงพยาบาลศูนย์ถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพโดยเฉพาะเครือข่ายบริบาลทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย สามารถพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการทั้งในระดับแม่ข่ายและลูกข่ายได้ครบทุกเขตบริการ
 
จัดกิจกรรมสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน (knowledge management) และประสานความร่วมมือในการส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์
 
๕)  งานบริการสังคม
 
เป็นวิทยากรและผู้ดำเนินรายการผ่านสื่อในการให้ความรู้การดูแลสุขภาพเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี เช่น รายการปัญหาชีวิตและสุขภาพทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ และรายการเพื่อลูกรักทางสถานีวิทยุจุฬาฯ เป็นต้น โดยเป็นรายการที่มุ่งหวังที่จะให้ความรู้กับประชาชนโดยแท้จริง ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องใด ๆ ไม่ได้มุ่งหวังประโยชน์จากการโฆษณา แต่เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์หน่วยงานของรัฐ ที่ส่งวิทยากรรับเชิญและกลุ่มแพทย์ที่มาร่วมตอบปัญหาทางโทรศัพท์ในรายการ เป็นรายการที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ผู้ดำเนินรายการไม่ได้รับค่าตอบแทน
 
นอกจากนี้ได้รับเป็นวิทยากรในการอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ เช่น ครู ผู้ปกครอง อยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการเผยแพร่ความรู้การดูแลสุขภาพเด็กสำหรับประชาชนผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ   
 
๖) หลักการทำงาน  เป็นคนชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆจึงไม่ปฏิเสธโอกาสที่ได้ทำงานในงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพเด็กด้านการศึกษาแพทย์ทุกระดับระบบสาธารณสุขของชาติและนานาชาติ สนุกกับงานที่ได้รับมอบหมายพยายามทำให้ดีที่สุดตามศักยภาพ