โรคร้าย "มะเร็งลำไส้ใหญ่" โรคร้าย "มะเร็งลำไส้ใหญ่"
12909Visitors | [0000-00-00] 

    

  •  
  • โรคร้าย "มะเร็งลำไส้ใหญ่" (เดลินิวส์)

              สุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และอยากให้อยู่กับเราไปนานๆ แต่ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายถดถอยลง โรคภัยไข้เจ็บก็ตามมาเป็นเงา โดยเฉพาะโรคที่ประมาทไม่ได้ ดังเช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
       
              นพ.วรมินทร์ เหรียญสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลศิริราช ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคนี้ประกอบด้วย ปัจจัยทางพันธุกรรม เนื่องจากมีความผิดปกติที่ยีนบางตัว ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอายุน้อยกว่า 45 ปี และมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม มีความเชื่อว่าเกิดจากการรับประทานอาหารแบบตะวันตก เช่น อาหารที่ไขมันสูง ของทอด อาหารประเภทปิ้งย่าง อาหารประเภทเนื้อแดง อาหารที่มีกากใยอาหารต่ำ กินอาหารที่มีกากใยน้อย
       
              "เมื่อมีปัจจัยมากระตุ้นจะทำให้เซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่มีการแบ่งตัวผิด ปกติเกิดเป็นติ่งเนื้องอกขึ้นมาก่อนที่เรียกว่า โพลิป (polyp) หลังจากนั้น เมื่อมีการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ติ่งเนื้องอกก็จะเปลี่ยนเป็นก้อนมะเร็ง เป็นแผลขยายมากขึ้น โดยขั้นตอน เหล่านี้ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี"
       
              มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่มีอุบัติการณ์สูงในประเทศแถบตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศทางยุโรป โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา ประชากรมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ตลอดชีวิตประมาณร้อยละ 6 หรือ 1 ต่อ 20 ของประชากร ประมาณการว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น 138,000 รายต่อปี และจะมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ประมาณ 60,000 คนต่อปี
       
              สำหรับประเทศไทย มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอุบัติการณ์ต่ำกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว จากสถิติของสถานวิทยามะเร็ง โรงพยาบาลศิริราชพบว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอุบัติการณ์สูงเป็นอันดับ 4 ในเพศชาย รองจากมะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนในเพศหญิงพบมากเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม
       
              แม้ว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่จะเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ แต่อัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จะสูงขึ้นในผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะถูกวินิจฉัยในช่วงอายุระหว่าง 50-70 ปี รวมทั้งผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังบางชนิด ซึ่งไม่ค่อย พบในประเทศไทยมากนักตลอดจน ผู้ที่มีประวัติมีติ่งเนื้องอกใน ลำไส้ใหญ่ และผู้ที่มีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
       
              ผู้ที่เป็นโรคนี้จำนวนมากไม่มีอาการให้เห็นในระยะแรก จนกว่าตัวเนื้องอกจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ หากตรวจพบก้อนเนื้องอกในระยะเริ่มแรกหรือพบในขณะที่เป็นติ่งเนื้องอก ผลการรักษาจะดีและมีโอกาสหายขาดได้โดยอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่พบบ่อย ได้แก่ อาการถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด มีการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ท้องผูกสลับกับท้องเสีย อาการอื่นๆ ที่อาจจะพบได้ คือ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
       
              สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนต้น อาจตรวจพบว่า มีอาการซีด ซึ่งเกิดจากการเสียเลือดโดยที่ไม่มีเลือดออกในอุจจาระให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจคลำพบก้อนที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา ผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการ ของลำไส้อุดตัน ซึ่งจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน และถ่ายอุจจาระหรือผายลมลดลง
       
              วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่มีหลายวิธีด้วยกัน คือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ทุก 5 ถึง 10 ปี หรือตรวจอุจจาระหาภาวะเลือดออกซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าทุกปี รวมทั้ง การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ร่วมกับการตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ ทุก 5 ปี
       
              "การตรวจคัดกรอง มีความสำคัญ เนื่องจากก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้น จะมีความผิดปกติเริ่มจากการมีติ่งเนื้องอกขึ้นมาก่อน ดังนั้นถ้าสามารถส่องกล้องลำไส้ใหญ่ และตรวจพบติ่งเนื้องอกได้ตั้งแต่ไม่มีอาการ แพทย์จะสามารถตัดติ่ง เนื้องอกผ่านทางกล้องโดยไม่ต้องทำการผ่าตัด ซึ่งจะเป็นการป้องกันการเกิดเป็นมะเร็งขึ้นได้"
       
              ด้านการรักษา สามารถทำได้โดยการผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งออก ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ลำไส้จะถูกต่อเข้าหากันใหม่และผู้ป่วยจะสามารถถ่ายอุจจาระ ทางทวารหนักได้ตามปกติ โดยปกติการผ่าตัดจะทำผ่านแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง ในปัจจุบันศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดโดยใช้กล้องในผู้ป่วยที่มีเนื้องอก ขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง และผู้ป่วยจะมีอาการปวดแผลหลังผ่าตัดลดลง
       
              หากมะเร็งเกิดขึ้นที่บริเวณลำไส้ตรงส่วนปลายหรือทวารหนักและก้อนเนื้อ งอกอยู่ในระยะเริ่มแรก การผ่าตัดสามารถทำได้โดยตัดเอาเนื้องอกออกผ่านทางทวารหนัก อย่างไรก็ตาม ถ้าก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่และใกล้ปากทวารหนักมาก การผ่าตัดอาจจะต้องผ่าตัดเอาทั้งลำไส้ตรงและทวารหนักออกทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถต่อลำไส้เข้าหากันได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องมีลำไส้เทียมมาเปิดที่ผนังหน้าท้องสำหรับการ ถ่ายอุจจาระ หากตรวจพบว่ามะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาเพิ่มเติมโดยการให้ยาเคมีบำบัดและถ้าเนื้องอกอยู่ ในตำแหน่งลำไส้ตรงส่วนปลายหรือทวารหนัก ผู้ป่วยอาจจะต้องได้รับการฉายรังสีเพิ่มเติม
       
              การป้องกันโรคลำไส้ใหญ่ทำได้โดย การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักและผลไม้ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ควรงดสูบบุหรี่และดื่มสุรา หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง หรืออาหารประเภทปิ้งย่าง จะช่วยลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ลงได้
       
              นอกจากนี้ การตรวจคัดกรองก็สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ในผู้ที่ไม่มีอาการและไม่มีปัจจัยเสี่ยงควรเริ่มต้นที่อายุ 50 ปี สำหรับผู้ที่มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ควรเริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 40 ปี หรือที่อายุ 5 ปีก่อนอายุของคนในครอบครัวที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนผู้ที่มีประวัติเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ ผู้ป่วยที่มีติ่งเนื้องอกจำนวนมาก การตรวจอาจเริ่มในอายุที่เร็วขึ้นโดยสามารถปรึกษาแพทย์ได้
       
              "มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่รักษาได้ และผลการรักษาค่อนข้างดี ถ้าพบในระยะเริ่มแรก อัตราการมีชีวิตรอดที่ 5 ปีจะมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่หนึ่ง หลังจากได้รับการผ่าตัด รวมทั้งป้องกันด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
       
              นอกจากนี้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ควรพิจารณาตรวจคัดกรองซึ่งมีหลายวิธี การตรวจคัดกรองนี้ทำให้สามารถพบมะเร็งในระยะแรกหรือพบตั้งแต่ในระยะที่เป็น ติ่งเนื้องอก ซึ่งสามารถตัดออกในระหว่างการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ได้" นพ. วรมินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
       
              ใส่ใจสุขภาพทุกช่วงวัย เพื่อร่างกายที่แข็งแรงจะได้อยู่กับเราไปนานๆ