|
10818Visitors | [2016-01-13]
สุขภาพดีไม่มีขายแต่สร้างได้ด้วยตัวเอง
จาก หนังสือพิมพ์บ้านบ้านเมือง (12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 )
โดย พญ.ดร.สุวิณา รัตนชัยวงศ์
สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้มีเกิดมีดับ มนุษย์เราทุกคนก็เฉกเช่นกัน ไม่มีผู้ใดอาจหลีกหนีวงจรชีวิตของการเวียนว่ายตายเกิด หรือ “วัฏฏะสังขาร” ไปได้ องค์พระสัมมามัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ทุกชีวิตเกิดมาล้วนมีทุกข์ (ทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ) เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นระหว่างการดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในแต่ละชีวิตมีย่อมความแตกต่าง จะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยที่นำไปสู่ผลแห่งกรรม (การกระทำ) ของผู้ครองเรือนกายภายใต้การดำเนินชีวิตของบุคคลนั้นๆ หาใช่เพราะใครอื่นใดเป็นผู้สร้างหรือกำหนดให้เราดำเนินพฤติกรรม
เยี่ยงนั้นไม่ ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนที่ว่า “กฎแห่งกรรม (หรือกฎแห่งการกระทำ) มีจริง” เป็นกฎแห่งความเป็นจริงตามธรรมชาติ ซึ่งตรงกับหลักการทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง
พ.ญ.ดร.สุวิณา รัตนชัยวงศ์ อุปนายกสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน กล่าวว่า สังคมโลกเราทุกวันนี้แปรเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเราเปลี่ยนไปจากวิถีธรรมชาติที่เรียบง่ายในชนบท ซึ่งต้องใช้แรงกายในการหาเลี้ยงชีพ ทำมาหากินด้วยการเพาะปลูกเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรไว้ใช้เป็นอาหารและขายเป็นรายได้ ประกอบอาหารเพื่อบริโภคด้วยตนเองจากวัสดุที่เก็บเกี่ยวสดจากไร่มาปรุงใส่จาน เปลี่ยนมาเป็นวิถีชีวิตแบบสังคมเมือง บริโภคอาหารปรุงสำเร็จโดยพ่อค้าแม่ขาย และ/หรืออาหารแปรรูปจากโรงงานอุตสาหกรรมที่แทบจะเหลือซึ่งกากใย และแลกซื้อมาได้ด้วยการใช้ธนบัตร มิต้องอาศัยแรงกาย (กำลังกล้ามเนื้อ) เข้าแลกเหมือนลักษณะงานในชนบท ใช้ชีวิต (กินอยู่หลับนอน) ในอาคารสูงมีพื้นที่จำกัด (คอนโด อพาร์ตเมนท์) หรือป่าคอนกรีตใช้ลิฟต์แทนการเดินขึ้นลงบันได สัญจรไปมาด้วยยานพาหนะที่ไม่ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อในการขับเคลื่อน (เช่น เดินเท้าหรือปั่นจักรยาน) เหมือนเช่นอดีตและยังห้อมล้อมด้วยปัจจัยที่ส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มทีอุดมไปด้วยพลังงาน (แต่ไร้คุณค่าโภชนาการ) ทั้งน้ำตาลและไขมัน (เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ชาสมุนไพร ชาดำเย็น/กาแฟเย็น) ทำให้ได้รับสารอาหารมากเกินความต้องการใช้เป็นพลังงานในการประกอบภารกิจประจำวัน ทำให้เหลือเก็บสะสมเป็นไขมันพอกอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย จนมีน้ำหนักเกิน กลายเป็นโรคอ้วน/อ้วนลงพุง และเกิดเป็นโรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงได้ในที่สุด
ดร.อัลเบริท์ ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ได้พิสูจน์ให้โลกได้เห็นแล้วว่า “สสารและพลังงานไม่สูญหายไปไหน” เพียงแต่แปรรูปไปจากสถานะภาพหนึ่งไปสู่อีกสถานะภาพหนึ่ง ขึ้นกับกาลเวลาและสถานภาพของสิ่งแวดล้อม เช่นการต้มน้ำบนเตาไฟ พลังงานจากเปลวไฟทำให้น้ำในกาเพิ่มอุณหภูมิขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดเดือด น้ำในกาค่อยๆ พร่องหายไปเพราะได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นไอล่องลอยไปในบรรยากาศ เมื่อไอน้ำกระทบบรรยากาศที่เย็นกว่าจะเกาะกลุ่มรวมตัวกันเป็นหยดน้ำตกสู่พื้นดินอีกครั้ง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปไม่มีวันสิ้นสุด
การดำเนินชีวิตของคนเราก็เฉกเช่นเดียวกัน การบริโภคอาหารและน้ำ (หาใช่เครื่องดื่มที่มีรสหวาน) เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อนำไปใช้ในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอ และมีพลังงานเพียงพอสำหรับประกอบภารกิจประจำวัน ปริมาณอาหารและพลังงานที่ควรได้รับนั้นจะมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับรูปร่างโครงสร้าง (ความสูงและน้ำหนัก) และลักษณะงานภารกิจประจำวันของแต่ละบุคคลว่ามีความต้องการมากน้อยเพียงไร ถ้าหากปริมาณอาหารและพลังงานที่บริโภคมีความสมดุลพอดีกับความต้องการใช้ในการประกอบภารกิจประจำวันก็จะไม่มีสารอาหาร (ส่วนใหญ่คือน้ำตาล) เหลือใช้จนทำให้ตับต้องทำหน้าที่แปรรูปให้เป็นไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์กักเก็บไว้ตามเนื้อเยื่อไขมันที่มีอยู่ทั่วร่างกาย (โดยเฉพาะในช่องท้อง) ผู้บริโภคก็จะมีน้ำหนักตัวคงที่โดยไม่มีปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามอายุขัยที่มากขึ้นทุกปี และด้วยกฎแห่งธรรมชาติอีกข้อหนึ่งคือ ความชราสภาพร่างกายที่เริ่มถดถอยไปตามอายุ มีการเคลื่อนไหวช้าลง ประสิทธิภาพในการเผาผลาญอาหารลดลง จึงจำเป็นที่จะเราต้องมีการฝึกฝนกล้ามเนื้อให้ยังคงมีประสิทธิภาพในการเผาผลาญอาหารได้ดีในระดับหนึ่งด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละ 30 นาที มิฉะนั้นแล้วน้ำหนักตัวก็จะเพิ่มขึ้นตามวัยแม้ว่าจะบริโภคอาหารในปริมาณเท่าเดิมก็ตาม ทั้งนี้เพราะกินเท่าเดิมแต่ใช้น้อยลง จึงเหลือเก็บเป็นไขมันทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มตามอายุ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความเป็นจริงตามธรรมชาติซึ่งอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์และโภชนศาสตร์
เมื่อเข้าใจเหตุปัจจัยเช่นนี้แล้ว การมีสุขภาพดีจึงไม่ใช่เรื่องยาก สำหรับคนอยากที่จะมี เพราะพวกเราทุกคนสามารถสร้างเสริมสุขภาพได้ด้วยตนเอง เพียงแค่ดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง ด้วยการบริโภคอาหารและน้ำในปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย (อย่าปล่อยให้เหลือเก็บกักตุนเป็นไขมันสะสมทั่วร่างกาย) และหมั่นฝึกฝนกล้ามเนื้อให้เผาผลาญอาหารอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน ก็จะทำให้เกิดผลดีตามมาอีก 1 ข้อคือ อารมณ์ดี
ปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลกส่วนใหญ่ในปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในซีกโลกตะวันออกนั้น ล้วนมีสาเหตุจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม 4 ประการคือ
1.บริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เหมาะสมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
2.ใช้ชีวิตแบบเคลื่อนไหวน้อย หรือไม่ออกกำลังกาย
3.บริโภคยาสูบ (บุหรี่ ยาเส้น ยามวน ซิการ์ บารากู่)
4.ดื่มสุราอย่างไม่เหมาะสม (ในเชิงปริมาณและความถี่)
พฤติกรรมทั้ง4อย่างได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อ(ไร้เชื้อ) เรื้อรังที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Non-Communicable Diseases เรียกย่อว่า NCDsเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของตนเองที่คร่าชีวิตของประชากรโลกมากขึ้นทุกปี เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตมีสาเหตุจาก NCDs 4 โรคคือ 1.โรคหัวใจและหลอดเลือด 2.โรคเบาหวาน 3.โรคหลอดลมอุดกลั้นและถุงลมโป่งพองและ 4.โรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้และสามารถบำบัดให้ทุเลาลงได้ด้วยการปรับเปลี่ยน (ลด ละ เลิก) พฤติกรรมอันเป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของทั้ง 4 โรคข้างต้น
“การมีสุขภาพดี ไม่ใช่สิ่งที่ซื้อหาได้ด้วยแก้วแหวนเงินทอง แต่เป็นการสนองตอบของร่างกายต่อผู้ใส่ใจดูแลเพื่อดำรงไว้ซึ่งความสมดุลย์ตามธรรมชาติ”เป็นมุมมองในเชิงวิทยาศาสตร์หรือตรรกศาสตร์ (ศาสตร์ที่ว่าด้วยเหตุและผล) หากจะลองพิเคราะห์ในเชิงพุทธศาสตร์หรือจริยศาสตร์ ก็สามารถอธิบายได้ดีเช่นกันพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรค NCDs ทั้ง 4 อย่างถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดศีล และละเว้นการปฏิบัติธรรม จึงส่งผลให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้กระทำว่า “กฎแห่งกรรมนั้นมีจริง”
ศีลข้อที่ 1 ให้ละเว้นจากการฆ่าหรือทำร้ายสัตว์ พฤติกรรมเสี่ยงต่อโรค NCDs ทั้ง 4 อย่างเป็นพฤติกรรมที่ทำร้าย/ทำลายสุขภาพของตนเอง เราเองก็เป็นสัตว์โลกผู้มีพฤติกรรมดังกล่าวคือผู้กระทำผิดศีลข้อที่ 1
ศีลข้อที่ 5 ซึ่งให้ละเว้นของมึนเมาและสิ่งเสพย์ติด การบริโภคสุราและยาสูบ หรืออาหารที่ชื่นชอบ (โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบ) มากเกินความต้องการของร่างกาย จนเกิดผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะภายใน (ตับ ตับอ่อน ปอด หัวใจและหลอดเลือด ตา ไต สมอง) ส่งผลให้เกิดโรคตับ ปอด หัวใจ ความดันโลหิตสูง โรดอ้วนและเบาหวาน นับได้ว่าเป็นการกระทำผิดศีลข้อที่ 5
ผลพวงจาการ ผิดศีล และละเว้นการปฏิบัติธรรม (ธรรมะ คือธรรมชาติ) ไม่ดำเนินชีวิตตามทางสายกลางให้มีความสมดุลในการบริโภคและเผาผลาญอาหารตามความต้องการทางธรรมชาติ ยังผลให้เสียสุขภาพ เกิดความเจ็บป่วยตามมาเป็นผลของการกระทำจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้ง 4 อย่างนั่นเองจึงขอสรุปว่า “สุขภาพดีไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าคุณอยากที่จะมี” และ “สุขภาพดีไม่มีขาย ผู้อยากได้ต้องสร้างเอง”
หวังว่าบทความนี้คงจะมีส่วนทำให้ท่านได้ตระหนักคิดสร้างสติและปัญญา หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพด้วยการจัดระเบียบการใช้ชีวิตอย่างมีศีลและปฏิบัติธรรม จนกลายเป็นภารกิจประจำวัน (วิถีชีวิต/วิถีธรรม) ที่ดำรงไว้ซึ่งความสมดุลตามธรรมชาติปราศจากความเจ็บป่วย ดังคำพระที่ว่า
“อโรคยาปรมาลาภา = ความไม่มีโรคเป็นลาภอันระเสริฐ” นั่นเอง