|
10152Visitors | [2017-02-16]
กินอยู่อย่างไรห่างไกลโรคเบาหวาน (ตอนที่ 1)
พญ.ดร. สุวิณา รัตนชัยวงศ์
จากที่ได้เคยเขียนบทความเรื่องสุขภาพดีไม่มีขาย แต่สร้างได้ด้วยตัวเอง” ลงในหนังสือพิมพ์บ้านเมืองฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 มาแล้วนั้น ผู้เขียนอยากให้ทุกท่านได้ลองย้อนกลับไปอ่านบทความดังกล่าวอีกครั้งที่ www.tmwa.or.th/new/view.php?topicid=407 ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า การสร้างสุขภาพที่ดีให้กับตนเองนั้นเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตให้ห่างไกลจากกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อเรื้อรัง” ที่มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Chronic Non-Communicable Diseases”เรียกย่อว่า “NCDs” เป็นกลุ่มโรคที่คร่าชีวิตประชากรทั่วโลกมากที่สุดในขณะนี้ โดยเฉพาะ 4 กลุ่มโรคสำคัญซึ่งเป็นสาเหตุถึง 80% ของการเสียชีวิตจาก NCDs คือ
1. กลุ่มโรคหลอดเลือดและหัวใจตีบตัน
2. กลุ่มโรคอ้วนและเบาหวาน
3. โรคหลอดลมอุดกั้นและถุงลมโป่งพอง
4. กลุ่มโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆ
ทั้ง 4 กลุ่มโรคล้วนมีปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมที่ผู้เป็นโรคก่อขึ้นด้วยพฤติกรรมซ้ำๆ ซากๆ ของตนเองซึ่งได้รับอิทธิพล (เลียนแบบและถ่ายทอด) จากบรรพบุรุษในครอบครัว หาใช่โรคที่เกิดจากพันธุกรรมอย่างที่ผู้เป็นมักกล่าวอ้าง/กล่าวโทษบรรพบุรุษของตนเองแทบทั้งนั้น ปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรมก็มีอยู่บ้างแต่น้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับปัจจัยทางพฤติกรรม 4 อย่างคือ
1. บริโภคอาหารและเครื่องดื่มอย่างไม่เหมาะสม (กินมากเกิน และกินผิดประเภทจนทำร้ายตนเอง)
2. ใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่ง ขาดการเคลื่อนไหวออกกำลังกาย
3. บริโภคยาสูบในรูปแบบต่างๆ ที่ธุรกิจด้านยาสูบพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาหลอกหล่อ
4. ดื่มเหล้าและผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอลอย่างไม่เหมาะสมจนเสพย์ติด ต้องบริโภคอยู่เป็นประจำ
อุบัติการณ์ของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (ชนิดที่เนื้อเยื่อมีความดื้อต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลิน) ยิ่งนับวันก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มประชากรทั่วโลกที่มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในการกินอยู่อย่างใกล้ชิดธรรมชาติเฉกเช่นที่เคยเป็นในสังคมชนบท (Rural community) มาเป็นการใช้ชีวิตแบบสังคมเมือง (Urbanization) ซึ่งบริโภค อาหารแปรรูปที่ไร้ซึ่งกากใย แต่อุดมไปด้วยแป้ง น้ำตาล ไขมัน สารปรุงแต่ง (เกลือ ผงชูรส รสกลิ่นและสี) สารกันบูด และยังบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล หรือ น้ำตาลบวกไขมัน ซึ่งให้พลังงานสูง ทำให้มีสารอาหารที่ถูกย่อยและดูดซึม (ส่วนใหญ่คือน้ำตาล) เข้าสู่กระแสโลหิตมากจนเหลือใช้ จึงถูกเก็บสะสมไว้เป็นไขมันพอกอยู่ในช่องท้องและเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายจนเกิดภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) รอบเอวขยายวัดได้เกิน 80 และ 90 ซ.ม.ใน ผู้หญิง และผู้ชาย ตามลำดับ
คำว่า “เบาหวาน” คือภาวะที่มีน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ในเลือดสูงเกินความสามารถในการดูดกลับ (สูงกว่า 180 มิลลิกรัม) ของท่อลำเลียงในเนื้อไต (Renal tubules) หลังจากผ่านการกรองของหน่วยไต (Glomeruli) น้ำตาลจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะพร้อมกับน้ำและเกลือแร่เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะบ่อย ร่างกายขาดทั้งน้ำและเกลือแร่ ทำให้มีอาการหิวน้ำบ่อยและอ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรงในการทำงาน นอนหลับไม่พอเพราะต้องลุกขึ้นปัสสาวะกลางดึก เพิ่มจำนวนครั้งมากขึ้น น้ำหนักตัวเริ่มลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้นเหมือนที่ผ่านมา ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยไม่รู้ว่าตัวเองได้ป่วยเป็นเบาหวานแล้ว และยังคงเพลิดเพลินอยู่กับการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มากเกินความต้องการของร่างกาย โดยไม่ตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงที่ปรากฏให้เห็นทางกายคือ ภาวะอ้วนลงพุง และน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index ย่อว่า BMI*) เกินเกณฑ์มาตรฐานของคนปกติ (BMI มากกว่า 23) จนเสี่ยงต่อโรค NCDs ก็ยังไม่สนใจเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน และการตรวจสุขภาพประจำปีอีกด้วย
ปัจจัยหลักที่ทำให้มีน้ำหนักตัวหรือเนื้อเยื่อไขมันในตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานมากเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้เซลล์ตับและเนื้อเยื่อไขมันต้องแปรรูปสารอาหารที่เหลือใช้ (ส่วนใหญ่คือน้ำตาล) ให้กลายเป็นไขมันเก็บสะสมไว้ โดยไม่เคยนำไปใช้ เพราะไม่เคยออกกำลังกายกระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญ วันแล้ววันเล่า จากเดือนเป็นปีมีแต่เก็บสะสมจนข้อเข่าแบกรับน้ำหนักตัวไม่ไหว เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนถึงวัยอันควร และเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดและหัวใจตีบตัน ยิ่งถ้าสูบบุหรี่และดื่ม
แอลกอฮอลร่วมด้วย ก็จะมีความเสี่ยงต่อกลุ่มโรค NCDs เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
เมื่อทราบดั่งนี้แล้ว การใช้ชีวิตกินอยู่อย่างไรให้ห่างไกลโรคอ้วนและเบาหวานจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับทุกๆ ท่านที่รักและห่วงใยในสุขภาพ ทุกๆ ท่านสามารถป้องกันมิให้มันเกิดขึ้นกับตนเองได้อย่างแน่นอน ถ้าท่านเริ่มหันมาใส่ใจในการสอดส่องดูแลพฤติกรรมการใช้ชีวิต และลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏให้เห็นด้วยตาตนเองตั้งแต่บัดนี้ ถ้าหากท่านยังไม่อ้วน น้ำหนักยังไม่เกิน ก็จงระวังอย่าให้มีน้ำหนักเกิน แต่ถ้ามีน้ำหนักเกินอยู่แล้วก็ต้องปรับลดปริมาณและพฤติกรรมในการเลือกประเภทของอาหารที่ชอบบริโภค ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจนเป็นภารกิจประจำวันของชีวิต ท่านก็จะสามารถลดน้ำหนักลงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายพึ่งพิงการกินยา และถ้าหากท่านบริโภคสุราหรือยาสูบ ก็ควร ลด ละ และเลิก ให้ได้ ด้วยหลักการง่ายๆ เพียงเท่านี้ ตัวท่านก็จะปลอดจากกลุ่มโรค NCDs ส่วนรายละเอียดในเรื่องของการรับประทานอาหารกลุ่มใดประเภทใด ที่ควรจะหลีกเลี่ยง และหลักในการเลือกใช้ชีวิตประจำวันอย่างไรให้ตนเองหลุดพ้นจากสภาพเนือยนิ่ง ไม่ออกกำลังกาย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าให้กับตนเองว่าในชั่วชีวิตนี้ (เมื่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ เริ่มถดถอยในยามที่ท่านมีอายุมากขึ้น) ท่านก็ยังไม่ต้องแผ้วพานกับกลุ่มโรค NCDs อย่าลืมติดตามอ่านต่อในตอนที่ 2 นะคะ
หมายเหตุ *ดัชนีมวลกาย (BMI) = นน.ตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงที่มีหน่วยเป็นเมตร 2 ครั้ง