เรื่องที่ 015 ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศในชายวัยทอง โดย พญ.มัชฌิมา ฮวบกอง เรื่องที่ 015 ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศในชายวัยทอง โดย พญ.มัชฌิมา ฮวบกอง
13544Visitors | [2017-04-27] 

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศในชายวัยทอง

โดย พญ.มัชฌิมา ฮวบกอง


      ในภาวะสังคมไทยปัจจุบัน   ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศในชายวัยทอง อาจยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก  แต่ในต่างประเทศ ผู้ชายในสังคมตะวันตก มีความตื่นตัวกับภาวะนี้มาก  เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้มีจำนวนชายวัยทองเพิ่มขึ้น  และมักพบร่วมกับภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย  ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของชายในสังคมตะวันตก   กลับมาที่ชายวัยทองในสังคมไทย ซึ่งเริ่มมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น  อาจทำให้ตระหนักและสนใจภาวะนี้มากขึ้น

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศในชายวัยทอง

หมายถึง  กลุ่มอาการที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่เกิดขึ้นกับผู้ชายสูงอายุ  โดยมีความสัมพันธ์กับการที่ฮอร์โมนเพศชายในร่างกายลดระดับลง (Morales, 2011, chap.29)     ผู้ชายมีเทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมนเพศชาย เมื่ออายุมากขึ้น ระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายจะถดถอยลงโดยจะค่อย ๆ ลดระดับลง ใช้เวลาหลายปี ทำให้อาการเปลี่ยนแปลงในผู้ชายเกิดขึ้นทีละน้อย บางคนไม่รู้สึกตัวแต่บางคนก็รู้สึกถึงสมรรถนะทางเพศที่ลดลง พลังงานลดน้อยลง อารมณ์หรือจิตใจที่ “ตก” ลงไปจากระดับเดิม สภาวะนี้ทางการแพทย์เรียกว่าอาการผู้ชายวัยทอง     ต่างกับผู้หญิงซึ่งฮอร์โมนเพศลดลงทันทีเพราะรังไข่หยุดทำงานตอนหมดประจำเดือน     

เนื่องจากอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นในวัยที่ผู้ชายเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายในชีวิต หรือเริ่มมองชีวิตที่ผ่านมา    จึงเป็นการยากที่จะบอกให้ได้ว่าอาการเหล่านี้เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายลดลง หรือเกิดจากเหตุภายนอกเช่นความล้มเหลวในหน้าที่การงานหรือการเสียจังหวะในชีวิตกันแน่     ผู้ชายพออายุพ้น 40 ปีไปแล้วฮอร์โมนเพศก็เริ่มลดลง ประมาณปีละ 1 %  พอช่วงอายุ 45 – 50 ปีจะลงเร็ว แต่ก็มักจะไม่มีอาการอะไรให้เห็นจนอายุ 60 ปี   เมื่ออายุถึง 80 ปีประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ชายช่วงวัยนี้จะมีฮอร์โมนเพศต่ำชัดเจน   ในประเทศสหรัฐอเมริกามีอุบัติการณ์ของภาวะนี้ 12.3 คน ต่อประชากร 1,000 คน ต่อปี   โดยตรวจพบผู้ป่วยใหม่ประมาณ 481,000 คน ต่อปี (Araujo et al, 2004)     ทั้งนี้มีความแตกต่างระหว่างบุคคล บางรายฮอร์โมนก็ยังคงอยู่ในระดับสูงแม้จะสูงอายุแล้ว บางรายฮอร์โมนลดต่ำไปแล้วก็จริง แต่กลับไม่มีอาการอะไรให้เห็นก็มี จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดเดาว่าใครจะมีระดับฮอร์โมนลดลงแค่ไหน ณ อายุเท่าใด หรือใครจะมีอาการหรือไม่มีอาการในอนาคต   ทางเดียวที่จะบอกได้ว่าฮอร์โมนลดต่ำลงจริงหรือไม่ก็คือการเจาะเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน

ในคนที่มีอาการจากฮอร์โมนลดต่ำ อาการอาจรวมถึงความต้องการทางเพศลดลง เป็นหมัน อวัยวะเพศแข็งตัวเองน้อยลง (เช่น เคยแข็งตัวตอนกลางดึกหรือตอนตื่นนอนตอนเช้าเป็นประจำก็ไม่แข็งตัวอีกเลย) เต้านมตึงคัด ขนในที่ลับร่วง ลูกอัณฑะเล็กและเหี่ยว ความสูงของร่างกายลดลง กระดูกบางยิ่งขึ้น กล้ามเนื้อลีบเล็กลง ร้อนวูบวาบตามตัวและเหงื่อออก พลังงานเสื่อมถอย แรงบันดาลใจและความมั่นใจลดลง รู้สึกเศร้า หรือซึม สมาธิเสื่อม ความจำเสื่อม มีอาการหายใจขัดขณะนอนหลับหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับแบบอื่น ๆ   มีภาวะโลหิตจาง ร่างกายทำงานได้น้อยลง ในอดีตแพทย์มักมองอาการเหล่านี้ว่าเป็นอาการของภาวะซึมเศร้าหรืออาการชราตามวัย จึงมักให้ผู้ป่วยยอมรับสภาพว่าอายุมากแล้วและให้ทำใจ   ทั้งตัวผู้ป่วยเองก็ยากที่จะยอมรับได้ว่าตนเองมีอาการเหล่านี้อยู่ จึงพยายามเพิกเฉยต่ออาการเหล่านี้เสีย       แต่ในปัจจุบันนี้มีการเจาะเลือดเพื่อพิสูจน์ระดับฮอร์โมนได้ง่าย ๆ ประกอบกับการมีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่าการขาดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด ทำให้ผู้คนหันมาสนใจภาวะนี้และการรักษาอย่างจริงจังมากขึ้น

ขณะที่ผู้ชายหลีกเลี่ยงภาวะฮอร์โมนเพศถดถอยเมื่ออายุมากขึ้นไม่ได้ และอาจมีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงบางประการของการใช้ฮอร์โมนทดแทน       มีการปฏิบัติตัวหลายอย่างที่จะส่งผลดีกับร่างกายหากมีภาวะนี้ได้แน่นอน เช่น เลือกรับประทานอาหารให้ถูกต้อง ใช้ชีวิตแบบแอคทีฟกระตือรือล้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้คงระดับพลังงานไว้ที่ระดับสูง คงมัดกล้ามเนื้อไว้ไม่ให้เหี่ยวหาย และคงจิตใจอารมณ์ให้คมเฉียบอยู่ได้แม้วัยจะล่วงเลยไปแล้ว

ดังนั้น เพื่อการวินิจฉัยและรักษา คุณควรจะหาโอกาสไปพบแพทย์เพื่อปรึกษา เจาะเลือดดูระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน รับฟังความเห็นและข้อแนะนำของแพทย์