เรื่องที่019 พฤติกรรมก้าวร้าวและอาการแสดงโดยแพทย์หญิงขจรวรรณ เชาวนกระแสสินธุ์ เรื่องที่019 พฤติกรรมก้าวร้าวและอาการแสดงโดยแพทย์หญิงขจรวรรณ เชาวนกระแสสินธุ์
32959Visitors | [2017-05-24] 

พฤติกรรมก้าวร้าวและอาการแสดง

โดย แพทย์หญิงขจรวรรณ เชาวนกระแสสินธุ์


ในสังคมปัจจุบันข่าวสารทางหนังสือพิมพ์  โทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ มักมีข่าวเรื่องการถูกทำร้าย ความก้าวร้าวและพฤติกรรมรุนแรง ซึ่งเกิดผลกระทบกับสังคมก่อให้เกิดความรู้สึกกลัวและไม่มั่นคงปลอดภัย

การเข้าใจสาเหตุและทราบถึงอาการที่ทำนายได้ว่าจะเกิดพฤติกรรมรุนแรง จะทำให้สามารถหลบเลี่ยงสถานการณ์และระมัดระวังตัวจากบุคคลที่อาจมีพฤติกรรมรุนแรงได้

พฤติกรรมก้าวร้าว

พฤติกรรมก้าวร้าว หมายถึง พฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกทางวาจา หรือการกระทำ เช่น การตะโกนเสียงดัง การข่มขู่ การทำลายข้าวของ การทำร้ายตัวเอง เช่น หยิกข่วนตัวเอง เอาศีรษะโขก หากมีพฤติกรรมที่รุนแรงอาจก่อให้เกิดการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้

สาเหตุ

ผู้ที่มีอาการก้าวร้าว อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากสาเหตุทั้งจากความเจ็บป่วยจากทางร่างกายหรือความเจ็บป่วยจากโรคทางจิตเวช

1. สาเหตุความก้าวร้าวจากอาการทางกาย ได้แก่

                1.1 ภาวะสับสนทางสมองจากการเจ็บป่วย เช่น

การติดเชื้อในสมอง สภาวะเกลือแร่ไม่สมดุล การชักบางประเภท

1.2 การเมาสุรา หรือสารเสพติดอื่น เช่น แอมเฟตามีน โคเคน หรือสารระเหย

ในขณะเสพสารเสพติด ผู้เสพอาจมีภาพหลอน หูแว่ว หรือความรู้สึกหุนหันพลันแล่น โดยที่ผู้เสพไม่สามารถควบคุมร่างกายและจิตใจให้เป็นปกติได้ เนื่องจากตกอยู่ในอิทธิพลของสารเสพติด ซึ่งบางครั้งอาจก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้

1.3 การถอนสารเสพติด เช่น ในผู้ป่วยที่มีอาการถอนสุรารุนแรง อาจมีภาวะสับสน (delirium) โดยมีหูแว่วภาพหลอน เห็นผีหรือคนอื่นจะมาทำร้าย อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงขึ้นได้

2. สาเหตุความก้าวร้าวจากอาการทางจิตเวช ได้แก่

                2.1 กลุ่มผู้ป่วยปัญหาบุคลิกภาพแปรปรวน

ผู้ป่วยในกลุ่มบุคลิกภาพแปรปรวน เช่น ผู้ป่วยบุคลิกภาพแปรปรวนแบบต่อต้านสังคม  ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ละเมิดสิทธิหรือทำร้ายผู้อื่นโดยไม่สนใจกฎหมายหรือศีลธรรม ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความรุนแรงขึ้นในสังคม

2.2 ผู้ป่วยทางจิตเวชที่มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอนหรือหวาดระแวง

เช่น ผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการหลงผิดกลัวว่าบุคคลอื่นจะมาทำร้าย อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักตกเป็นเป้าและเป็นที่รังเกียจของสังคม เนื่องจากรูปลักษณ์ภายนอกที่มอมแมม การพูดบ่นคนเดียวหรือการทำท่าทางแปลกๆ รวมถึงพฤติกกรมที่ก้าวร้าวบางรูปแบบ ทำให้คนทั่วไปหวาดกลัว แต่แท้จริงแล้วผู้ป่วยกลุ่มนี้หากได้รับการรักษาทางจิตเวชที่ถูกต้องและสม่ำเสมอ  ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนปกติได้ ในรายที่อาการดีสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้

2.3 ผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว

ผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแมเนีย ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ป่วย รู้สึกว่าตนเองมีพลังมากกว่าปกติ บางครั้งมีอารมณ์ที่หุนหันพลันแล่น ไวต่อสิ่งกระตุ้นและไม่สามารถยับยั้งอารมณ์หรือการกระทำได้

2.4 กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาพฤติกรรมที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้

ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีปัญหาระเบิดอารมณ์ในบางสถานการณ์  ผู้ป่วยจะมีช่วงก้าวร้าว อารมณ์พลุ่งพล่านแบบไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จนทำให้เกิดการทำร้ายผู้อื่นหรือทำลายทรัพย์สิน หรือก่อพฤติกรรมรุนแรง โดยขณะเกิดอาการไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของสารเสพติดและไม่ใช่กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม

การป้องกันตนเองจากพฤติกรรมรุนแรงจากบุคคลอื่น

การป้องกันตนเองจากพฤติกรรมรุนแรงจากบุคคลอื่นทำได้โดยการรู้จักสังเกตและประเมินสถานการณ์ที่เสี่ยงและหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น โดยทั่วไปพบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงในการก่อพฤติกรรมรุนแรง ได้แก่ เพศชาย อายุ 15-24 ปี สถานทางเศรษฐกิจต่ำ มีการเข้าถึงความช่วยเหลือจากสังคมน้อย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจก่อพฤติกรรมรุนแรงขึ้น นอกจากนั้นกลุ่มที่มีประวัติการก่อความรุนแรงในอดีต หรือมีประวัติความเครียดที่รุนแรง เช่น หย่าร้าง การสูญเสีย เป็นกลุ่มที่อยู่ในสภาวะอารมณ์เปราะบาง ทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมได้เป็นปกติ

                การสังเกตการแสดงออกทางกายเช่น มีการแสดงความก้าวร้าวพฤติกรรมรุนแรงทั้งต่อบุคคล หรือทรัพย์สิน แสดงกริยาหรือคำพูดคุกคามข่มขู่ด่าทอ มีการถืออาวุธหรือสิ่งซึ่งสามารถนำเป็นอาวุธได้ มีการเคลื่อนไหวร่างกายบางแบบ เช่น กำหมัดแน่น กัดฟัน เขย่าหรือเคาะเท้าเพื่อพยามสงบอารมณ์ ผุดลุกผุดนั่ง หรืออยู่ในภาวะเมาสุราหรือสารเสพติด หากตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว หรือเกิดความรู้สึกไม่แน่ใจว่าปลอดภัยหรือไม่ การเชื่อสัญชาตญาณตนเอง ตั้งสติและควบคุมอารมณ์ของตน ไม่ต่อล้อต่อเถียงหรือก่อให้เกิดการวิวาท พยายามหลบเลี่ยงออกจากสถานการณ์ดังกล่าว ไม่เข้าไปมุงดูเหตุการณ์และไม่เข้าไปจัดการในสถานการณ์ที่ไม่แน่ใจว่าตนเองจะมีทักษะควบคุมได้ เช่น ไม่เข้าไปต่อรองกับผู้ป่วยเมายาบ้าที่ถืออาวุธปืน ควรหลีกเลี่ยงออกจากสถานการณ์และแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง

                นอกจากนั้นหากมีญาติหรือบุคคลใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงหรือเคยกระทำพฤติกรรมรุนแรง ร่วมกับมีความเจ็บป่วยทางจิตเวชหรือการติดสารเสพติด การพาผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดพฤติกรรมรุนแรงได้