|
183451Visitors | [2017-05-31]
ท่านสามารถ ดาวโหลดไฟล์ต้นฉบับได้ที่ http://www.tmwa.or.th/new/lib/file/20170521145811.pdf
แพทย์หญิงสุขจันทร์ พงษ์ประไพ
- แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- Thai Board of Physical Medicine and Rehabilitation
คำนำ
บ่อยครั้งผู้ป่วยที่มีอาการปวดกระบอกตา เมื่อไปตรวจความผิดปกติทางตากับจักษุแพทย์แล้ว ไม่พบมีพยาธิสภาพทางตา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายตา ความดันในกระบอกตา จอภาพ ประสาทตาหรือกล้ามเนื้ออาจต้องมองหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นโรคทางระบบประสาท หรือโรคทางกล้ามเนื้อที่มีอาการปวดร้าวมาที่กระบอกตาบทความนี้จะกล่าวเฉพาะถึงอาการปวดกระบอกตา ที่เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ ซึ่งมักจะพบมากในวัยทำงานที่มีลักษณะงานแบบนั่งโต๊ะไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก พนักงานบัญชี เลขานุการหรือแม้กระทั่งนักศึกษาที่คร่ำหวอดอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆเกิน 3-4 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป ซึ่งนอกจากจะมีอาการปวดกระบอกตาแล้ว ถ้าซักประวัติให้ดีๆ จะพบว่ามีอาการปวดต้นคอ สะบัก ต้นแขนและบางครั้งอาจปวดศีรษะข้างเดียวหรือ 2 ข้างร่วมด้วยเสมอๆการนั่งทำงานนานๆโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบท หรือการจัดระเบียบของโต๊ะทำงาน รวมถึงคอมพิวเตอร์และคีย์บอร์ดในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมกับสรีระของเราจะส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอเกิดการหดเกร็งอยู่นานจนทำให้การไหลเวียนของเลือดภายในกล้ามเนื้อลดลงเกิดการคั่งค้างของของเสียและขาดออกซิเจน ผลตามมาทำให้เกิดการอักเสบภายในกล้ามเนื้อเกิดความตึงและหดสั้นของกล้ามเนื้อ และถ้าปล่อยให้พฤติกรรมดังกล่าวต่อเนื่องไปเป็นเดือนเป็นปี ทำให้เกิดจุดกดเจ็บในกล้ามเนื้อ ที่เรียกว่ากลุ่มอาการปวด ไมโอ-แฟสเชี่ยล (Myofascial pain syndrome)
กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง
กล้ามเนื้อต้นคอที่ทำให้เกิดอาการปวดกระบอกตา จากกลุ่มอาการดังกล่าวได้แก่ อัปเปอร์-ทราปีเซียส (upper trapezius) สเตอร์โนไคลโด-มาสตอยด์ (Sternocleidomastoids)
และซับอ๊อก-ซิปิตอล (suboccipitals) ดังรูปที่ 1-3 ซึ่งอาการปวดกระบอกตาเป็นอาการปวดร้าวมาจากกล้ามเนื้อเหล่านี้ ยังมีกล้ามเนื้อต้นคออีกหลายมัดที่ทำให้อาการปวดต้นคอและสะบักจากการทำงานนั่งโต๊ะนานๆ แต่ไม่ได้มีอาการปวดร้าวไปกระบอกตา ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดกระบอกตา ต้นคอ และสะบัก อาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยนั้น ควรมีการตรวจคัดกรองหาจุดกดเจ็บของกล้ามเนื้อ อัปเปอร์ทราปีเซียส สเตอร์โนไคลโดมาสตอยด์และซับอ๊อกซิปิตอล
ควรทำอย่างไร
คุณที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือทำงานนั่งโต๊ะหรือยืนทำงานอยู่กับที่นานๆเกิน 3-4 ชั่วโมง ควรวิเคราะห์ตัวคุณเองและสภาพแวดล้อมการทำงานของคุณ และหาทางปรับปรุงแก้ไขด้วยตัวคุณเองก่อน ดังนี้
1. จัดโต๊ะ เก้าอี้ และคอมพิวเตอร์ให้เหมาะกับตัวคุณ ดังรูปที่ 4
2. ขณะทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ควรละสายตา จากหน้าจอทุก 20 นาที โดยมองออกไปให้ไกลๆ ประมาณ 10-30 วินาทีและทุกๆ 1 ชั่วโมง ควรลุกจากเก้าอี้และเดินไปมา เพื่อผ่อน
คลายกล้ามเนื้อตาต้นคอ บ่า ไหล่ และหลังของคุณ
คลายกล้ามเนื้อตาต้นคอ บ่า ไหล่ และหลังของคุณ
3. เมื่อคุณปวดต้นคอ บ่าไหล่ และกระบอกตาอาจประคบแผ่นความร้อน บริเวณ ต้นคอและบ่า 2 ข้าง หรือถูนวดเบาๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย
4. ยืดกล้ามเนื้อต้นคอที่ทำให้เกิดอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และกระบอกตาโดยเฉพาะกล้ามเนื้อ 3 มัด ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังรูปที่ 5-7
5. ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ชอบออกกำลังกายเลยควรเริ่มหันมาออกกำลังกายแบบแอโรบิคเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางกายของคุณกล้ามเนื้อทั้งร่างกายคุณจะได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่และ เพิ่มความทนทานในการใช้งาน แต่ละวันได้ดีจะได้ไม่ปวด เมื่อยง่ายหวังว่าเกร็ดเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะช่วยให้คุณทำงานอย่างมีความสุข ปราศจากความปวดเมื่อยอย่างที่คนทำงานนั่งโต๊ะปัจจุบันมักจะเป็นกัน ขอให้โชคดีค่ะ