เรื่องที่ 023 โรคซึมเศร้า โดย แพทย์หญิง ขจรวรรณ เชาวนกระแสสินธุ์ (จิตแพทย์) เรื่องที่ 023 โรคซึมเศร้า โดย แพทย์หญิง ขจรวรรณ เชาวนกระแสสินธุ์ (จิตแพทย์)
8640Visitors | [2017-07-05] 

โรคซึมเศร้า

โดย แพทย์หญิง ขจรวรรณ เชาวนกระแสสินธุ์ จิตแพทย์


                อารมณ์เศร้าเป็นอารมณ์ทางด้านลบ เกิดขึ้นได้ในมนุษย์ปกติเมื่อประสบกับเหตุการณ์ที่รู้สึกไม่ชอบใจหรือไม่พึงพอใจ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ใหม่ๆหรือสถานการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นก็สามารถปรับเปลี่ยนอารมณ์ได้ใหม่ตามสถานการณ์นั้นๆ โรคซึมเศร้า เป็นการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งทางจิตเวช พบได้ประมาณร้อยละ 2 ของประชากร และคาดว่าคนไทย 1.5 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า แต่มีคนเข้าถึงการรักษาเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น

อัตราการเกิดโรคซึมเศร้า ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย  อัตราส่วน หญิง: ชาย เท่ากับ 1.7:1  

โรคซึมเศร้า แตกต่างจากความรู้สึกและอารมณ์เศร้า ซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ

สาเหตุ

สาเหตุ ของโรคซึมเศร้าในปัจจุบันมองว่า เกิดจากสาเหตุหลายปัจจัยร่วมกัน  ได้แก่

1.  สาเหตุทางพันธุกรรมพบว่า ในครอบครัวที่มีคนป่วยโรคซึมเศร้าโอกาสที่คนในครอบครัวอื่นจะป่วยมีมากกว่าคนทั่วไปถึง 2.8 เท่า และโรคซึมเศร้ามี  ความเสี่ยงที่จะส่งทอดไปทางพันธุกรรม ไปยังลูกได้ถึงร้อยละ 30-40

2. นอกจากนั้นอาจเกิดความผิดปกติของการหลั่งของสารสื่อประสาทในสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ผิดปกติ

3. การเผชิญต่อความเครียดหรือความสูญเสียรุนแรงของชีวิต การหย่าร้าง ภาระงานที่หนัก การสูญเสียบุคคลสำคัญในชีวิต

4. อุปนิสัยและการเลี้ยงดูของแต่ละบุคคล ผู้ที่ถูกทอดทิ้ง มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคนใกล้ชิด มองโลกแง่ร้าย มีความสามารถการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ต่ำ เก็บกดหรือไม่แสดงออกอารมณ์ หนีปัญหา มีแนวโน้มความเสี่ยงจะเกิดโรคซึมเศร้าได้ง่าย

5. การเจ็บป่วยทางกายและการรับประทานยาบางชนิด อาจมีความเสี่ยงให้เกิดโรคซึมเศร้าได้

การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า

การวินิจฉัย โรคซึมเศร้า ผู้ป่วยมีอาการอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป ร่วมกับมีอารมณ์เศร้าเบื่อหน่ายท้อแท้ หรือ ไม่สนใจในกิจกรรมที่เคยทำและมีความสุข อย่างน้อยหนึ่งข้อ ร่วมกับอาการดังนี้อย่างน้อย 5 ข้อได้แก่

1.มีอารมณ์ซึมเศร้าอยู่ตลอดทั้งวันและตลอดเวลาร่วมกับการ

2.มีความสนใจในกิจกรรมต่างๆที่เคยชอบทำลดลงมาก

3.น้ำหนักเปลี่ยนแปลง (มากขึ้นหรือลดลง) มากกว่า ร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัว

4.นอนน้อยลงหรือนอนมากขึ้น

5.มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เช่น กระวนการะวายมากขึ้น หรือเคลื่อนไหวช้าลง

6.รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง

7.รู้สึกตนเองไร้ค่า

8.ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับงาน หรือสิ่งที่ต้องทำได้

9.มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือคิดอยากตาย        

การรักษาโรคซึมเศร้า

ในผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นเป็นโรคซึมเศร้า การพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการ  ความรุนแรงของโรค และความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายในรายที่มีอาการรุนแรง โดยแพทย์จะทำการประเมินและให้การรักษาที่เหมาะสม

1.การรักษาโดยยา ได้แก่ การรักษาโดยยาต้านซึมเศร้าในขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลา อาการและความรุนแรงของโรค

2. การรักษาโดยการทำจิตบำบัด เป็นการรักษาร่วมกับการรักษาด้วยยา ในผู้ป่วยบางราย เพื่อช่วยในการปรับตัวและเข้าใจโรคหรือเพิ่มทักษะการแก้ปัญหาและการจัดการความเครียดซึ่งอาจะเป็นตัวกระตุ้นอาการเจ็บป่วย