เรื่องที่ 029 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี ตอน พัฒนาความทรงจำด้วยการเล่านิทาน 2 เรื่องที่ 029 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี ตอน พัฒนาความทรงจำด้วยการเล่านิทาน 2
7998Visitors | [2017-08-24] 

จากสมองสู่สมอง …... ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี

โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ


พัฒนาความทรงจำด้วยการเล่านิทาน อ่านหนังสือ สอนพูด (2)

      ฉบับที่แล้วเราพูดถึงพัฒนาการภาษา การพูด ในเบื้องต้น http://www.tmwa.or.th/new/view.php?topicid=685 จะขอทบทวนประเด็นสำคัญอีกนิดคือ การพูดแต่ละคำของลูก ไม่ได้เป็นเพียงการเปล่งเสียงตามเท่านั้น แต่เป็นผลรวมของการที่สมองเด็กทำความเข้าใจ “ความหมาย” ของคำพูดนั้นด้วย เพราะฉะนั้น พัฒนาการภาษาเกาะเกี่ยวเนื่องกับ “สติปัญญา” ของลูก คุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกฉลาด ต้องใส่ใจฝึกฝนลูกด้านภาษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การฝึกให้ลูกฟัง พูด อ่าน ตอบสนอง ถามคำถาม วาดภาพ โดยเฉพาะให้ลูกเข้าใจ “ความหมาย” ของคำต่าง ๆ ที่เราใช้ เพื่อให้ลูกสะสมความเข้าใจ ขอย้ำว่า “ความเข้าใจ” ไม่ใช่การท่องจำอย่างเดียว ถ้าลูกท่องจำคำได้ แต่ไม่รู้ความหมายที่แท้ เพราะไม่เคยเห็น ไม่เคยแตะต้อง ไม่เคยได้กลิ่น ฯ เช่น คุณอาจสอนลูกให้ท่องจำคำว่า “ส้ม” ด้วยการให้ดูรูปภาพ “ส้ม” สิ่งที่เกิดขึ้นในสมองของลูกก็จะเป็น ภาพส้มแบน ๆ บนกระดาษ เห็นรู้ว่าส้มมีสีเขียวหรือสีส้ม รูปกลมๆ และเมื่อมองเห็นภาพส้ม ก็บอกคุณได้ว่า ส้ม แต่เด็กที่ไม่เคยแตะต้องส้ม ไม่เคยเล่นกับส้ม ไม่เคยได้กลิ่น ลิ้มรส เลียส้ม ไม่เคยจับ ไม่รู้ว่าผิวส้มเป็นอย่างไร เวลาปอกเปลือกแล้ว ข้างในเป็นอย่างไร เพราะคุณแม่ให้ดื่มน้ำส้มตอนที่คั้นเรียบร้อยแล้ว ความทรงจำและความเข้าใจของลูก เกี่ยวกับส้ม จะไม่เป็นจริง เพราะฉะนั้น ในช่วง 3 ขวบแรก จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องกระตุ้น จัดประสบการณ์ตรง นั่นหมายถึงให้ลูกได้ใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วน (ตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส และความรู้สึก) กับสิ่งของที่เป็นจริงรอบตัวให้มากที่สุด ก็เพื่อให้ลูกมีข้อมูลวงจรความทรงจำ และความเข้าใจที่เป็นจริงในสิ่งที่อยู่รอบตัวให้มากที่สุด อันจะเป็นฐานสำคัญของการเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเรียน ยิ่งคุณปลูกประสบการณ์ ความเข้าใจต่อสิ่งต่าง ๆรอบตัวได้มากเท่าไร นั่นคือต้นทุนการคิดของลูกที่เข้าสู่วัยรุ่นและเป็นผู้ใหญ่ที่รู้คิด มีวิจารณญาณ และมีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล รู้จักทางเลือก และเลือกทางที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้มากกว่าคนอื่น ๆ
ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำในทางปฏิบัติที่คุณพ่อ คุณแม่จะช่วยลูกกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา และสะสมความรู้ ความเข้าใจต่าง ๆ ผ่านภาษา
 
► คุยกับลูก เป็นสิ่งที่ง่าย และคุณพ่อคุณแม่ชอบอยู่แล้ว คุยกันอย่างสนุก มีชีวิตชีวา สำคัญอย่างยิ่งที่ลูกจะต้องคุ้นเคยและได้ยินเสียงของคุณบ่อยที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ บอกเขาว่า คุณคือใคร เราอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ และสิ่งรอบตัวลูกที่เขาเห็น ได้ยินเสียง แตะต้องได้ จากสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัว ไปสู่สิ่งที่ไกลตัวออกไป
► รับฟังลูกอย่างอดทน ตั้งใจ แม้ในช่วงแรก ๆ คุณจะยังไม่เข้าใจภาษาหรือคำพูดที่ลูกใช้ เมื่อลูกรับรู้ว่ามีคนตั้งใจฟังเขา จะเป็นแรงกระตุ้นให้เขาอยากฝึกออกเสียง หรือเปล่งคำพูดใหม่ ๆมากขึ้น
► ให้เวลากับลูกที่จะตอบสนองหรือตอบคำถามของคุณ อย่าลืมว่า เด็กเล็ก ๆต้องการเวลาสำหรับเรียบเรียงทำความเข้าใจความรู้สึก ความคิดของตัวเอง ก่อนที่จะสามารถสื่อสารกับคุณได้ คุณพ่อคุณแม่อย่าใจร้อนที่จะเร่งรัด หรือพูดแทน หรือพยายามเติมคำในช่องว่างเวลาที่ลูกพูดกับเรา อย่าขัดจังหวะลูกเร็วเกินไป ให้เวลากับลูก
► พูดคำง่าย ๆ สั้น ๆ ช้า ๆ อย่าลืมว่า คำในสมองลูกยังมีจำกัด อายุเขาต่างจากเรามาก ความเข้าใจคำต่าง ๆ มีจำกัด หากต้องการอธิบายอะไรให้ลูกเข้าใจ ต้องปรับประโยคของเราให้ง่าย สั้น พูดให้ชัดเจน ทีละเรื่อง ผู้ใหญ่มักพูดหลายเรื่องในประโยคเดียวกัน โดยเฉพาะเวลาที่เรามีอารมณ์โกรธ ไม่สบายใจ เครียด หรือสนุกตื่นเต้นเกินไป เรามักไม่ระมัดระวังที่จะใช้คำศัพท์แบบผู้ใหญ่ ซึ่งจะทำให้ลูกสับสน หากคุณอดทนและพยายามใช้คำพูดง่าย ๆ สั้น ๆ ช้า ๆ กับลูกบ่อย ๆ ลูกจะเรียนรู้คำต่าง ๆ ได้เร็ว
► สื่อสารกับลูกด้วยภาษาท่าทาง ใช้ใบหน้า และมือ ในการช่วยทำให้ลูกเข้าใจความหมายของคำต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้าเราพูดคำว่ากิน  แสดงท่าทางให้ลูกดูประกอบคำ ลูกจะสามารถเชื่อมโยงท่าทางที่ลูกคุ้นเคย (เพราะลูกกินทุกวัน) กับคำที่เราใช้ได้เร็วและง่ายกว่าการที่เราจะพูดให้ฟังเฉย ๆ
► พูดซ้ำ ๆ เพื่อให้ลูกทำความเข้าใจ และจดจำได้ง่ายและเร็ว แม้เราจะรู้สึกว่า พูดไปแล้วเมื่อสักครู่ หรือเมื่อชั่วโมงที่แล้ว หรือเมื่อวานนี้ ก็ต้องไม่เบื่อหน่ายที่จะพูดกับลูกซ้ำ ๆ จนกว่าแน่ใจว่า ลูกเข้าใจคำที่เราสื่อสารด้วย
► ตอบสนองและชื่นชมกับความพยายามของลูกที่จะสื่อสารกับเรา ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องคอยแก้ไขคำที่ลูกพูดผิด หรือ ประโยคที่ไม่ถูกต้องตลอดเวลา ที่ควรทำก็คือ ทบทวนคำหรือประโยคที่ลูกพูดด้วย คำหรือประโยคที่ถูกต้อง เช่น ลูกพูดว่า “แม่ไปหลาด” แทนที่จะตำหนิว่า ไม่ใช่ ๆ สิ่งที่ควรทำคือ ทวนประโยคของลูกด้วยประโยคที่ถูกต้องคือ “จ๊ะ แม่ไปตลาดจ๊ะ” 
► ให้ลูกร่วมทำกิจวัตรประจำวันกับเรา เช่น ร้องเพลงกับลูก ตบมือ เล่นเกมง่าย ๆ ขณะที่เปลี่ยนผ้าอ้อม ทำหน้าตลก เล่นจ๊ะเอ๋เวลากวาดบ้าน ถูกบ้าน ซักผ้า ซึ่งลูกจะเข้ามาช่วยอยู่ใกล้ ๆ เล่นส่องกระจกกันเวลาแต่งตัวให้ลูก ฯ ที่สำคัญ ฝึกให้ลูกช่วยงานง่าย ๆ เช่นถ้าลูกจับช้อน จานได้ดีพอควรแล้ว ก็ฝึกให้หัดล้างผัก ตักข้าว ล้างจาน เด็ก ๆ ชอบมากที่จะมีส่วนร่วมกิจกรรมกับคุณพ่อคุณแม่ ถ้าที่บ้านมีคนช่วยทำงานบ้าน ก็ให้ลูกช่วยเขาในกิจกรรมของเขาเอง เช่น ทานข้าว แต่งตัว ขณะที่ลูกร่วมกิจกรรม คุณก็อธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ให้ลูกฟังว่าเริ่มต้นทำอย่างไร ต่อด้วยอะไร และสุดท้ายเป็นอย่างไร
► อ่านหนังสือกับลูกทุกวัน อย่าได้ขาด ไม่ว่าลูกจะนั่งนิ่ง ๆ อยู่กับคุณได้จนจบเรื่องหรือไม่ คุยกับเขา อธิบายรูปภาพ สี รูปทรง จำนวน และคำต่าง ๆ ที่ปรากฏเชื่อมโยงภาพเข้ากับคำ พาไปร้านหนังสือ หรือห้องสมุดใกล้ ๆ เพื่อช่วยกันเลือกหนังสือที่ลูกชอบ
► เล่านิทานให้ลูกฟัง คิดเรื่องขึ้นเอง เด็กเล็กชอบฟังเรื่องที่มีตัวเขาเป็นผู้แสดง หรือ เกี่ยวกับเรื่องที่เขาคุ้นเคยในกิจวัตรประจำวัน
► ร้องเพลงกล่อม เลือกเพลงง่าย ๆ จังหวะพอดี ๆ หรือเปิดเทปเสียงให้ฟัง ไม่แนะนำให้ใช้วิดิโอที่มีภาพ ลูกอยากฟังเสียงของคุณพ่อ คุณแม่มากกว่า ลูกไม่ได้สนใจว่าเสียงเพราะหรือไม่เพราะ จะร้องเพลงถูกจังหวะ ทำนองหรือไม่ 

 

ทำไมบางคนพูดเร็ว บางคนพูดช้า

      ยังคงเป็นข้อสงสัยว่า ทำไมเด็กบางคนพูดช้า บางคนพูดเร็วกว่าเด็กอื่น หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องพันธุกรรม อายุที่เด็กแต่ละคนจะพูด “คำแรก” ที่มีความหมาย อาจอยู่ระหว่าง 9-18 เดือน ในช่วงแรกเด็กจะพูดได้เพียงไม่กี่คำ แต่ในช่วงขวบปีที่ 2 จำนวนคำจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนความเข้าใจความหมายของ “คำ” นั้น จะเริ่มราว ๆ อายุ 9 เดือน บางครั้งเราเรียกว่า “ภาษาใจหรือ ภาษาคิด”  และจะพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ บางครั้งแม้ว่าเด็กจะไม่เปล่งคำพูดออกมา แต่สามารถชี้ภาพได้ถูกต้องเมื่อเราถามคำถาม เป็นสัญญาณบอกถึงภาษาใจหรือภาษาคิดของเด็กเอง
      สำหรับเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ใช้ 2 ภาษา เช่น ภาษาไทยกับภาษาจีน หรือไทยกับอังกฤษ อาจเรียนภาษาได้ช้ากว่า แต่ถือเป็นโอกาสดีสำหรับเด็กที่จะคุ้นเคยกับทั้งสองภาษา แต่ไม่ควรเป็นข้อละเลยหากคุณแม่คุณพ่อสังเกตว่าลูกพูดช้ากว่าเด็กอื่น แล้วเมื่อไรที่คุณพ่อคุณแม่ควรเอะใจ ข้อแนะนำ
 
 
►  ใช้สามัญสำนึกในความเป็นพ่อแม่ มีบางอย่างผิดปกติ ไม่ว่าจะสังเกตว่าลูกพูดช้า เดินช้า กว่าเด็กคนอื่น แม้ว่าอาจไม่แน่ใจว่า วิตกมากไปหรือเปล่า แต่ก็ไม่เสียหายที่จะขอรับคำปรึกษาจากผู้รู้ เช่น แพทย์ใกล้บ้าน หรือ หมอประจำตัวเด็ก
►  จะพูดได้หรือไม่ เด็กจะต้องสามารถ “มองเห็น” และ “ฟัง” ได้ตามปกติ เพราะฉะนั้น เราเคยสังเกตหรือให้ความสนใจหรือไม่ บางทีเราสังเกตว่า ลูกเดินเซชนนั่นชนนี่ เป็นเพราะเดินยังไม่แข็ง หรือว่า มีปัญหาเรื่องการมองเห็น เด็กพูดช้า เป็นเพราะมีปัญหาเรื่องการได้ยินหรือไม่
►   หากลูกยังไม่พูดเมื่ออายุใกล้ขวบครึ่ง ควรเดือดร้อนที่จะหาที่ปรึกษาเพื่อให้แน่ใจว่า ควรช่วยเหลือลูกอย่างไร เป็นเพราะเราไม่สอน เพราะเราไม่รู้หรือว่าลูกมีความผิดปกติของพัฒนาการด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง
►   ถ้าเด็กยังพูดวลีหรือประโยคสั้น ๆ ไม่ได้ก่อนอายุ 2 ขวบครึ่ง ไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือพยายามพูดแต่ติดขัดพูดออกมาไม่ได้ พูด ๆ แล้วก็หยุดไปไม่สามารถพูดต่อเนื่องได้
 

อาการติดอ่าง

      อันที่จริงอาการติดอ่างเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ บางประเภทไม่ถือว่าผิดปกติ เช่นในช่วงที่เด็กหัดพูดใหม่ ๆ แต่เป็นที่ยอมรับทั่วกันว่า ยิ่งช่วยเหลือเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี หากท่านสังเกตพบ อาการพูดติดอ่างเกิดขึ้น ควรตรวจสอบและทำความเข้าใจกับอาการของลูก ก่อนอื่นสภาวะติดอ่างเกิดขึ้นเพราะความคิดเกิดขึ้นเร็วและมากเกินกว่าที่ลิ้นจะขยับคำพูดออกมาทัน ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ แต่ส่วนมากเป็นภาวะปกติในช่วงอายุ 2 ขวบถึง 2 ขวบครึ่ง ทั้งเป็นอาการที่อาจติดเป็นนิสัยหรือเป็นเพียงภาวะที่เด็กทดลอง รวมทั้งเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กเกิดความเครียด ต้องการความใส่ใจมากขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงของครอบครัว เช่น คุณแม่มีน้องใหม่ พ่อแม่แยกกัน เด็กถูกส่งตัวไปฝากเลี้ยงในศูนย์เด็กเล็ก ฯ ก่อนที่จะวิตกกังวลมากเกินไป ขอให้คุณแม่คุณพ่อเฝ้าสังเกตลูกสัก 3-6 เดือน ท่านอาจพบว่า อาการติดอ่างเพิ่มมากขึ้นแล้วค่อยหายไปเอง หากไม่แน่ใจลองจดบันทึกไว้โดยสังเกตทำเครื่องหมายไว้บนปฏิทินแต่ละครั้งที่พบว่าลูกติดอ่าง เป็นการเฝ้าระวังว่าลูกติดอ่างมากขึ้นหรือน้อยลง ค่อย ๆ หัดลูกให้พูดช้าลง เพื่อให้ลิ้นไม่พันกัน หากพบอาการต่อไปนี้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้าน         การฝึกพูด เด็กพูดคำ วลีหรือประโยคซ้ำ ๆ ออกเสียงซ้ำๆ หรือพูดออกมาไม่ได้ติดขัดทั้งที่พยายามจะทำ
นอกเหนือจากการพูด พัฒนาการที่สำคัญก็คือ การฟัง ซึ่งมีระดับการฟังเสียงเฉยๆ กับการตั้งใจฟังเพื่อรวบรวมเสียง/คำพูดที่ได้ยิน และทำความเข้าใจความหมายเหล่านั้น  หากเด็กมีปัญหาเรื่องการฟังเสียงจะมีผลโดยตรงต่อพัฒนาการภาษา ฉะนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เลี้ยงดูต้องให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ เพื่อค้นพบความผิดปกติได้เร็วที่สุด สาเหตุมีหลายอย่าง เช่น ความผิดปกติของอวัยวะรับเสียงตั้งแต่แรกเกิด การติดเชื้อ โดยเฉพาะที่พบบ่อยมากคือ หูน้ำหนวก ซึ่งมักเกิดขึ้นร่วมกับการเป็นหวัดเรื้อรัง ซึ่งควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อแก้ไขให้ตรงสาเหตุ 
ฉบับหน้าเราจะคุยกันเรื่อง “การมองเห็น” ซึ่งสำคัญมาก และมีเวลาจำกัดสำหรับเด็กเล็ก