เรื่องที่ 031 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี ตอน รู้จักความทรงจำของเรา เรื่องที่ 031 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี ตอน รู้จักความทรงจำของเรา
6142Visitors | [2017-09-08] 

จากสมองสู่สมอง …... ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี

โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ


ตอน รู้จักความทรงจำของเรา

      คุณแม่คุณพ่อที่ได้ติดตามอ่านบทความของดิฉัน คงจะพอจำได้ว่า กระบวนการเรียนรู้ภายในสมองของเรา ก็คือ การที่เซลล์สมองสร้างวงจรเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างหนาแน่น ยิ่งวงจรใดหนาแน่นมาก การเรียนรู้ก็จะดีมาก มีความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนั้นมาก นักวิจัยด้านสมองกับการเรียนรู้ได้ค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ ที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องการเรียนรู้มากขึ้นทั้งในระดับพฤติกรรมที่เห็นภายนอก และกระบวนการทางเคมีและไฟฟ้าที่เกิดขึ้นภายในสมองของเรา และตอกย้ำให้เราเข้าใจความสำคัญของการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ๆ ดังนี้

1.ความถี่ของการฝึกซ้ำๆ นั่นเอง วงจรในเซลล์สมองของมนุษย์ทุกคนเหมือนกัน ก็คือ ต้องการเรียนรู้และฝึกฝนซ้ำ ๆ ซ้ำ ๆ เช่น ถ้าเราอ่านหนังสือมากเท่าไร ก็จะอ่านหนังสือเก่งขึ้นเท่านั้น หมายถึง อ่านได้เร็วขึ้น จับประเด็นง่ายขึ้น มากขึ้น เข้าใจเรื่องที่อ่านลึกซึ้งขึ้น เช่นเดียวกับการฝึกฝนกล้ามเนื้อร่างกายของเรา ถ้าเราอยากรูปร่างสวย หุ่นดี ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อกระชับทุกวัน หุ่นก็จะดีอย่างที่เราหวัง แต่ถ้าเอาแต่นึกฝันไม่ทำอะไรเลย ก็ไม่มีทางได้รูปร่างอย่างที่ใจหวัง

2.ความเข้มข้น การเรียนรู้หรือการสร้างวงจรได้จากประสบการณ์ซ้ำ ๆ และมากเพียงพอ เมื่อเด็กเรียนรู้ที่จะหัดแปรงฟัน ในระยะแรกวงจรความทรงจำเกี่ยวกับวิธีการแปรงฟันจะเกิดเป็นวงจรในสมอง (ทั้งด้านขั้นตอน ตั้งแต่การรู้จักแปรงสีฟัน การจับแปรงสีฟัน) เล็ก ๆ แล้วค่อยหนาแน่น ใหญ่ขึ้นหากคุณแม่ฝึกลูกให้หัดแปรงฟันทุกวัน จนถึงวันหนึ่งเมื่อการเรียนรู้มีมากพอ ลูกของคุณก็จะสามารถแปรงฟันได้ด้วยตัวเอง เรื่องอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน เด็ก ๆ จะไม่สามารถเข้าใจ “คณิตศาสตร์” และ มีความรักต่อคณิตศาสตร์ได้ ต่อเมื่อเด็กมีความเข้าใจอย่างชัดเจน จดจำได้ว่า จำนวนนับ (นิ้วมือ 1 นิ้วต่างจาก 2 นิ้วอย่างไร หรือ ช้อน 3 คัน ต่างจากช้อน 5 คันอย่างไร) จำนวนนับคือพื้นฐานสำคัญยิ่งต่อการเข้าใจเรื่องการบวก ลบ คูณ หาร เศษส่วน และ ต่อมาเป็นเรื่องกฎเกณฑ์หรือทฤษฎีคณิตศาสตร์ที่ยากขึ้น เช่น การใช้บัญญัติไตรยางศ์อย่างง่ายในการหาตัวเลขจากโจทย์ที่ยากขึ้น หรือ ถ้าคุณที่เป็นผู้ใหญ่สนใจจะเข้าร่วมวิ่งมินิมาราธอน คุณต้องการเวลาในการฝึกฝนการวิ่งอย่างน้อยหลายเดือนกว่าคุณจะเข้าไปวิ่งระยะทาง 42 กิโลเมตรได้โดยไม่เป็นลมเป็นแล้งไปก่อน

3.ฝึกหลายๆกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ซ้ำๆ การสร้างความทรงจำต้องทำให้เกิดวงจรในสมองอย่างหนาแน่นทั้งในวงจรอย่างเดียวกัน และ ข้ามหลายส่วนในสมอง เพราะฉะนั้นหากได้ฝึกจากหลายกิจกรรมมากเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มวงจรการเรียนรู้มากขึ้น ๆ เช่น คุณสามารถทำให้ลูกเข้าใจจำนวนนับ มิใช่จากการตั้งใจสอนให้ลูกนับอย่างเดียว แต่สามารถเพิ่มวงจรมากขึ้นในกิจกรรมอื่น ๆ ของลูก เวลาอาบน้ำ ตักน้ำใส่ในอ่าง หรือ ออกจากตุ่ม นับจำนวนขันที่คุณตักน้ำลงในอ่างหรือจากตุ่ม แล้วให้ลูกหัดนับไปด้วย ฝึกให้ลูกหยิบขันตักเองบ่อย ๆ นอกจากจะฝึกให้ลูกหยิบและตักน้ำเองได้แล้ว (รวมไปถึงตักข้าวใส่ปาก ก็อย่าลืมนับไปด้วยค่ะ) ลูกก็จะคุ้นเคยกับจำนวนนับไปด้วยตลอดทุกกิจกรรม

4.ยืดหยุ่น การเรียนรู้ทุกเรื่องต้องใส่ใจและยืดหยุ่น คุณแม่ต้องเฝ้าสังเกตลูกอย่างใส่ใจว่า สิ่งที่เราตั้งใจสอนนั้น ลูกทำได้มากน้อยเพียงไร ลูกติดขัดอย่างไร เพื่อสามารถปรับปรุงวิธีการฝึกลูกให้ยืดหยุ่นตามสภาพที่คุณแม่สังเกตเห็นได้ เช่น เมื่อฝึกให้ลูกแปรงฟัน แล้วสังเกตว่า ลูกยังไม่สามารถจับแปรงสีฟันได้ถูกต้อง มั่นคง ไม่ต้องใจร้อนค่ะ ค่อย ๆ ฝึกต่อไป โดยเพิ่มเติมการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่บังคับนิ้วมือ คือ นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ โดยหัดคีบเม็ดถั่ว (ระวังลูกเอาแหย่เข้ารูจมูก หรือ รูหู ต้องคอยดูแลใกล้ ๆ) หรือ ฝึกจับบล็อกก้อนขนาดย่อม ๆ ต่อเป็นรูปร่างต่างๆ อย่าลืมว่า ทักษะการใช้นิ้วมือหากยิ่งฝึกได้ดีมากเท่าไร การแปรงฟันก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับลูก รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ที่จะตามมา

5.สร้างแรงจูงใจและฝึกความตั้งใจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กอยากเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่เบื่อหน่าย ต้องสังเกตว่ากิจกรรมใดที่ลูกชอบ เชื่อมโยงกับกลิ่น รสของอาหาร ความสนใจอยากรู้อยากเห็นของลูก เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ลูกสนใจสิ่งที่เราจะฝึกสอน ถ้าลูกตั้งคำถาม ต้องใส่ใจว่าคำถามอะไรที่ลูกชอบถามบ่อย ๆ ซึ่งแสดงความสนใจและแรงจูงใจในการเรียนรู้ ใช้เรื่องนั้นนำไปสู่เรื่องที่เราอยากฝึกสอน เช่น อยากสอนให้ลูกรักการอ่าน เวลาลูกถามคำถาม แม้จะรู้คำตอบอยู่แล้ว แต่ลองบอกว่า “เอาคำถามลูกนี่ แม่ไม่รู้นะจ๊ะ เราลองไปเปิดหนังสืออ่านกันหน่อยดีกว่า” หาหนังสือที่มีภาพสวย ๆ อธิบายเรื่องต่าง ๆ แบบง่าย ๆ จะเป็นแรงจูงใจสำคัญสำหรับการปลูกฝังการอ่านจนติดไปจนโต