|
7511Visitors | [2017-09-14]
จากสมองสู่สมอง …... ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี
โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ
ตอน ขั้นตอนการสร้างความทรงจำ
ขั้นที่ 1 เข้าถึงระบบความทรงจำในสมองของลูก พูดยากแต่ทำง่ายค่ะ สำหรับคุณแม่ คุณพ่อ เพราะลูกใกล้ชิดกับเรามากที่สุดอยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นข้อได้เปรียบของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ อย่าปล่อยให้หลุดมือไป เพราะฉะนั้น การใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณค่าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดระหว่างคุณกับลูก เมื่อใกล้ชิดลูก คุณก็จะสังเกตเห็นลักษณะเด่น อะไรที่ลูกชอบ อะไรที่ลูกทำได้ดี อะไรที่ทำได้ช้า หรือต้องค่อยเป็นค่อยไป จำให้ขึ้นใจไว้ตลอดเวลาว่า ประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 คือ ตา(เห็นภาพ) หู(ได้ยินเสียง) จมูก(รับกลิ่น) ลิ้น(รับรส) ผิวหนัง(รับความรู้สึกต่าง ๆ รอบตัว) และความรู้สึกภายใน ต้องจัดให้ลูกครบถ้วน เวลาอยากให้ลูกรู้จักอะไรอย่างจริงจังลึกซึ้ง เช่น อยากให้ลูกรู้จักผลไม้ เพื่อปลูกนิสัยชอบทานผลไม้เป็นประจำ เลือกผลไม้ที่มีกลิ่นหอมจัด รสไม่หวานมาก (เพื่อไม่เพาะนิสัยการกินหวานให้ลูกตั้งแต่เล็ก) สีสวยสักหน่อยเพื่อเรียกความสนใจของลูก (อาจจะเป็นกล้วยหอม ส้ม) ให้ลูกได้รู้จัก ลูกคลำเล่น ลองดมกลิ่น แล้วปอกเปลือกให้ทาน โดยคุณแม่ทานให้ดูเป็นตัวอย่าง ค่อย ๆ ให้ลูกทดลองลิ้มรส ไม่ต้องใจร้อน ค่อยเป็นค่อยไป เมื่อลูกคุ้นชินกับผลไม้แล้ว ก็มาแนะนำให้ลูกรู้จักผัก เลือกผักที่อ่อนนิ่มก่อน ทานง่าย ๆ ให้รู้จักตั้งแต่ยังไม่ได้ปรุง แล้วปรุงให้ลูกทาน โดยให้ลูกช่วยอยู่ข้าง ๆ ทำเสร็จแล้วทานด้วยกัน สนุกจริง ๆ สำหรับเด็ก ๆที่ได้เฝ้าสังเกตคุณพ่อหรือคุณแม่ทำกับข้าว และมีส่วนร่วม พร้อมกับทานไปด้วยกัน
ขั้นที่ 2 ตอบสนอง ทบทวน เมื่อลูกค่อย ๆ ซึมซับสิ่งที่ได้สัมผัสผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง และ ความรู้สึกของตนแล้ว สมองจะทำวงจรเก็บความทรงจำเหล่านั้นไว้ หากลูกสามารถพูดได้มากพอควรแล้ว ลูกจะจดจำผลไม้ ในคุณลักษณะที่เป็นผลไม้จริง ๆ ไม่ใช่ผลไม้จากรูปภาพหรือจากคำบอกเล่า ยิ่งลูกเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้มากและลึกซึ้งเท่าไรก็ยิ่งดีมาก เมื่อลูกสามารถอธิบายหรือพูดให้เราฟังถึงสิ่งที่เขาเรียนรู้ได้ คุณแม่คุณพ่อต้องสังเกตและตอบสนอง ส่วนใดที่ลูกบอกเล่าได้ถูกต้อง หรือ ชี้ได้ถูกต้อง ก็ช่วยพูดย้ำหรืออธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อย เพื่อค่อยเสริมความทรงจำของลูก ให้กำลังใจลูกด้วยการแสดงสีหน้า ยิ้ม ไม่จำเป็นต้องชมเชยด้วยคำพูดมากนัก ถ้าลูกบอกไม่ได้หรือไม่ถูกต้อง อย่าตำหนิ (เห็นบ่อย ๆ ที่พ่อแม่ชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น โดยหวังว่า จะทำให้ลูกอยากเอาชนะ สำหรับเด็กเล็กนอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังสร้างรอยแผลในใจลูก ทำให้ลูกหมดกำลังใจ บางทีถึงขั้นรู้สึกตัวเองล้มเหลว สู้ใครไม่ได้) ช่วยแก้ไขด้วยความนุ่มนวล หรืออธิบายเพิ่มเติม ถ้าลูกไม่เข้าใจ อย่าหงุดหงิดหัวเสีย แสดงว่า สิ่งที่เราอธิบายไม่อาจเข้าไปถึงความคิดของเด็กได้ ลองหาวิธีใหม่ที่จะตอบสนองและทำให้ลูกเข้าใจได้ถูกต้องและลึกซึ้ง
ขั้นที่ 3 ต่อยอดจากสิ่งที่ลูกรู้อยู่แล้ว ไปสู่สิ่งใหม่ ต้องไม่ลืมว่า สมองของเราจะจดจำหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ก็โดยพยายามเชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่มีอยู่มากบ้างน้อยบ้าง ทุกครั้งที่จะสอนสิ่งใหม่ เช่น ลูกรู้จักกล้วยหรือส้มแล้ว (ใกล้ตัวลูกมาก เพราะคุณแม่ทำกล้วยครูด หรือ คั้นน้ำส้มให้ลูกได้ทานเป็นอาหารเสริมทุกวัน) ต่อไปอยากให้ลูกรู้จักมะนาว ทบทวนกับลูกสักหน่อย หยิบส้มถามว่า นี่อะไรลูก ๆ ก็ตอบได้แล้ว อธิบายนิดหน่อย ส้มกลม ๆ กลิ่นหอม ๆ รสหวานเปรี้ยว อร่อยจริง หยิบมะนามมาเปรียบเทียบให้ลูกดู กลม ๆ เหมือนกัน ผิวคล้าย ๆ กัน ให้ดมกลิ่นสักหน่อย กลิ่นต่างออกไปหน่อย ถ้าลูกอยากชิม คั้นแล้วถ้าเปรี้ยวมาก ใส่เกลือน้ำตาลทำน้ำมะนาวให้ลูกชิมเล็กน้อย แต่คุณแม่ดี่มให้ดูอึกใหญ่ ๆ บอกว่า อาจจะไม่อร่อยเท่าส้ม แต่แม่ก็ชอบเหมือนกัน นำมะนาวมาคั้นทำอาหาร เพื่อขยายความเข้าใจของลูกว่า มะนาวคั้นน้ำดื่มได้ แล้วคุณแม่ก็ยังเอามาทำอาหารได้ด้วย คุณกำลังขยายให้ลูกรับรู้และเข้าใจว่า ประโยชน์ของสิ่งที่ลูกรู้จักไม่ได้มีอย่างเดียว มีประโยชน์ได้หลายอย่าง คุณให้ลูกนับมะนาวไปด้วยเพื่อปลูกฝังความเข้าใจเรื่องจำนวนนับ เป็นการวางฐานการเข้าใจคณิตศาสตร์ไปด้วย
ขั้นที่ 4 ทำความทรงจำให้แข็งแรงยิ่งขึ้น จากขั้นที่ 3 ซึ่งเราได้ช่วยเด็กเพิ่มความทรงจำเชื่อมโยงจากของที่รู้อยู่เก่า ไปสู่สิ่งใหม่ คุณแม่คุณพ่อก็คงจะพอประเมินได้แล้วว่า ลูก ๆ มีความก้าวหน้าไปถึงไหน เรียนรู้ได้ตามที่เราคาดหวังมากน้อยเพียงไร ตอนนี้เป็นหน้าที่ที่จะช่วยจัดกระบวนการให้ความทรงจำของลูกแข็งแรงขึ้น ด้วยการ “ประเมินค่า/ตอบสนอง” เพื่อช่วยเสริม แก้ไข ก่อนที่ความทรงจำของลูกจะฝังแน่นไปนาน และจะแก้ไขยากเมื่อโตขึ้น เช่น ถ้าลูกพูดคำไทยไม่ชัด ”กล้วย”เป็น “ก้วย” สิ่งที่คุณควรทำก็คือ ลูกจ๋าเขาเรียกว่า “กล้วยจ๊ะ ไหนออกเสียงตามแม่สิจ๊ะคนดี” ถ้าลูกพูดได้ชัดขึ้น (อาจไม่ชัดมากที่สุด ก็ให้กำลังใจ “นั่นลูกทำได้ เห็นไหม เอาเรามาร้องเพลงเล่นกัน..” คุณอาจช่วยลูกแต่งเพลงเกี่ยวกับกล้วย ไม่จำเป็นต้องมีคำคล้องจองตามไวยากรณ์ ทำให้ง่ายสำหรับลูกและสนุกไปด้วย นี่เป็นวิธีที่จะช่วยปลุกฝังความทรงจำระยะยาวแบบถูกต้อง
ขั้นที่ 5 ฝึกซ้อมกับลูกให้บ่อยที่สุด เป็นวิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยลูกสร้างความทรงจำระยะยาวไปนานแสนนาน ลองนึกถึงตัวเราเอง พวกเราเรียนรู้วิธีแปรงฟันจากคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างไร และทักษะในการแปรงฟันติดตัวเรามาตั้งแต่เด็กจนโตไม่เคยลืม เพราะอะไร ก็เพราะคนที่เลี้ยงดูเราได้ช่วยสอนและให้เราแปรงฟันทุกวัน ๆ เป็นเวลายาวนาน ความทรงจำเกี่ยวกับการแปรงฟันและนิสัยในการดูแลตัวเองอื่น ๆ เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ทานอาหาร บางคนก็ปรุงอาหารเองได้ ก็เพราะพ่อแม่ให้เราฝึกฝนจนฝังรากลึกในสมองของเราไม่หายไปไหนเลย แม้ว่าบางทีเราอาจตกระกำลำบาก สมมติว่า ไปอยู่เกาะห่างไกลไม่มีแปรงสีฟันหลายปีผ่านไป เรากลับมาบ้านก็ยังแปรงฟันได้
ขั้นที่ 6 ทบทวนให้บ่อยที่สุด คุณต้องกำหนดให้ได้ว่า ความรู้ ทักษะ หรือพฤติกรรมอะไรที่คุณอยากให้ลูกจดจำไปได้นานแสนนาน อะไรที่คุณเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของลูกต่อไปในอนาคต เช่น เมื่อลูกเข้าขวบที่ 3 ควรมีความเข้าใจและความสามารถในการดูแลตนเองในกิจวัตรประจำวัน เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องปล่อยและฝึกให้ลูกดูแลตนเองให้มากที่สุด ไม่ใช่ต้องมีคนรับใช้หรือช่วยเหลือตลอดเวลา ถ้ามีคนช่วยมากลูกก็จะเรียนรู้ช้า เพราะการเรียนรู้ของสมองลูกจะได้จากการลงมือทำจริง ๆ เท่านั้น ยิ่งทำมากวงจรในสมองก็ยิ่งหนาแน่นและมีความสามารถมาก ที่สำคัญต้องฝึกให้ลูกหัดทำงานตั้งแต่เล็ก ๆ ตั้งแต่งานเล็ก ๆ ไปจนถึงงานบ้านเท่าที่ลูกจะสามารถทำได้ การที่พ่อแม่ช่วยเหลือลูกมากเกินไป (หรือเลี้ยงแบบคุณหนู) นั่นคือการทำร้ายลูกทางอ้อม เพราะเท่ากับตัดโอกาสที่ลูกจะเรียนรู้ได้ตามวัย มีผลให้ลูกมีพัฒนาการช้ากว่าที่ควร อันจะส่งผลไปถึงการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ เมื่อเข้าโรงเรียน
ขั้นที่ 7 ฝึกให้ลูกดึงความทรงจำออกมาใช้บ่อย ๆ และยากขึ้นเป็นลำดับตามอายุและความสามารถ ขั้นนี้สำคัญมาก เพราะคุณจะทราบว่าลูกเรียนรู้ได้ดีมากขนาดไหน เช่น ถ้าเราฝึกลูกแปรงฟัน เราก็เฝ้าสังเกตว่าลูกทำอย่างไรบ้าง จับแปรงสีฟันถูกต้องไหม แปรงฟันสะอาดไหม นั่นหมายถึงเรากำลังกระตุ้นและเปิดโอกาสให้ลูกได้ดึงความรู้จากความทรงจำออกมาใช้ประโยชน์จริง ๆ ได้แล้ว ถ้าลูกยังทำไม่ถูกต้อง เรามีหน้าที่ช่วยให้ลูกทบทวน อย่าเพิ่งช่วยหรือจับมือ ถามลูกก่อนว่า จำที่แม่สอนได้ไหมว่า เวลาจับแปรงสีฟันอย่างไร เปิดโอกาสให้ลูกลองดึงความทรงจำออกมาอีกครั้ง บางทีการที่ลูกทำไม่ถูกต้องอาจเป็นเพราะว่า ลูกรีบร้อนให้เสร็จ การที่เราช่วยทันทีหรือแก้ไขทันที อาจทำให้เราประเมินลูกต่ำเกินไป ลูกอาจจำได้แต่ยังดึงความทรงจำออกมาได้ไม่หมด ความอดทนและเฝ้าสังเกตอย่างตั้งใจ ไม่ผลีผลามช่วยเหลือจึงจะช่วยลูกได้อย่างจริง ๆ
รู้จักความทรงจำระยะสั้น
เรามาทำความรู้จัก “ความทรงจำ” ของเราว่ามีกี่ประเภท เพื่อเราจะได้เข้าใจมากขึ้นเวลาที่เราดูแลกระตุ้นให้เกิดความทรงจำต่อสิ่งต่าง ๆรอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทบทวนกันสักนิดว่า ข้อมูลต่าง ๆ จะเข้าสู่สมองของเราผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 นั่นคือ รับภาพผ่านดวงตา รับเสียงผ่านหู รับกลิ่นผ่านจมูก รับรสผ่านลิ้น รับความรู้สึกต่าง ๆผ่านผิวหนัง และมีระบบรับสัมผัสภายในร่างกายและความรู้สึกของเราเอง ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปเก็บตามส่วนต่างๆ ในสมองของเรา โดยลำดับขั้นการเก็บความทรงจำ จะเริ่มบริเวณสมองส่วนกลาง (ฮิปโปแคมปัส รู้ชื่อไว้สักหน่อยเผื่อจะอ่านพบที่ไหน) มันจะทำหน้าที่คล้ายพนักงานจัดระบบสายโทรศัพท์ในองค์กรคือ ช่วงแรก ๆ จะส่งข้อมูลไปเก็บไว้ที่ความทรงจำระยะสั้น เช่น เมื่อเรามองเห็นภาพบางอย่างที่น่าสนใจ (ขอย้ำว่าต้องน่าสนใจ ไม่เช่นนั้น สมองจะไม่ไปจัดเก็บไว้เลย) ก็จะเก็บข้อมูลได้สัก 20 วินาที โดยเราจะมีระบบความจำระยะสั้น 2 แบบคือ การจดจำทันที กับ การจดจำเพื่อใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น เราจะพาลูกไปทานอาหารที่ร้านสักแห่ง ก็เปิดสมุดโทรศัพท์ เมื่อตาเรามองเห็นหมายเลข สมองจะจดจำหมายเลขไว้นานพอที่เราจะหมุนโทรศัพท์ไปได้ แต่ระหว่างที่เรากำลังหมุนโทรศัพท์เกิดมีใครชวนเราคุย นั่นคือขัดขวางกิจกรรมที่จะทำให้สมาธิเสียไปพัก เราจะลืมหมายเลขไป ต้องกลับมามองหาหมายเลขใหม่อีกครั้ง ตัวอย่างนี้คือ ความทรงจำเพื่อใช้งานเป็นเวลาประมาณครึ่งนาทีเท่านั้น
ส่วนความจำเพื่อใช้งานที่ซับซ้อนมากขึ้นนั้น ต้องการกระบวนการมากกว่าที่กล่าวมา โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะต้องได้รับการฝึกฝนในการดึงข้อมูลที่มีในสมองออกมาใช้ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเมื่อเป็นผู้ใหญ่จะเป็นตัวตัดสินว่า ลูกของเรามีความสามารถในการคิด ตัดสินใจ และแสดงออกต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ดีมากน้อยเพียงไร ก่อนที่ข้อมูลต่าง ๆจะถูกจัดเก็บไว้ในความทรงจำระยะยาว สมองเราจะเก็บข้อมูลสำคัญ ๆ ไว้ที่ความทรงจำส่วนที่ต้องใช้งาน อาจเป็นเวลาหลายชั่วโมง เป็นวัน สัปดาห์ หรือเดือน ความทรงจำส่วนใช้งานนี้หากได้ใช้เป็นประจำ จนกระทั่งสมองตระหนักว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อชีวิตของเรา ข้อมูลส่วนนี้ก็จะถูกนำไปเก็บไว้ที่ความทรงจำระยะยาว แล้วข้อมูลใหม่ ๆ ที่เข้าสู่สมองของเราจะถูกเชื่อมโยงกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ในสมองของเราเปรียบได้กับเครื่องประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่มาก ๆ สมมติว่า เด็กจะต้องทำโจทย์คณิตศาสตร์ที่โรงเรียน เมื่อคุณครูให้โจทย์บนกระดาน เด็กเห็นภาพโจทย์ส่งไปที่สมอง สมองของเด็กจะค่อย ๆ นำโจทย์นี้ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ถ้าเด็กมีความจำเกี่ยวกับตัวเลขและวิธีทำอยู่แล้ว และสามารถดึงข้อมูลออกมาได้ทันทีก็จะทำโจทย์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากว่ามีปัญหาเช่น เป็นตัวเลขที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สมองเด็กจะพยายามเทียบเคียงดูว่า พอจะเข้ากับอะไรได้บ้าง ถ้าหากพอจะเทียบเคียงกับสิ่งที่มีอยู่ได้ ก็จะค่อย ๆ ลองทำดู ลองผิดลองถูกจนกระทั่งทำได้ หากเด็กมีความอดทน ก็จะลองพยายามทำเอง เพราะเป็นเรื่องท้าทาย (และขอย้ำตรงนี้ว่าความสามารถของลูกในการใช้สมองแก้ไขปัญหาไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มากหรือน้อย จะขึ้นกับคุณพ่อคุณแม่สอนด้วยค่ะ ที่จะฝึกให้เด็กมีความอดทนในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยไม่เข้าไปช่วยเหลือเร็วหรือมากเกินไป อย่าลืมว่า ถ้าเด็กได้รับการช่วยเหลือมาก ก็เท่ากับเราไปขัดขวางการทำงานของสมองเด็ก จะทำให้เด็กไม่อดทนที่จะแก้ปัญหา และความสามารถในการดึงข้อมูลมาใช้ก็จะมีน้อย โตขึ้นก็จะลำบากทีเดียว) คุณพ่อคุณแม่จะต้องพยายามกระตุ้นและฝึกให้ลูกมีความอดทนที่จะดูแลแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการฝึกฝนให้ลูกสามารถแก้ปัญหายากๆขึ้นได้ในอนาคต
ลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความทรงจำระยะยาวของเราบ้าง ข้อมูลเกี่ยวกับสมองในปัจจุบัน มีคำถามมากมายว่า ข้อมูลใหม่ ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความทรงจำเดิม ๆ ของเรา จะถูกจัดเก็บเข้าไปในความทรงจำระยะยาวได้หรือไม่ และจะทำอย่างไร เป็นปัญหาที่คุณครูทั้งหลายคงอยากได้คำตอบ เพื่อที่ว่า จะได้ช่วยลูกศิษย์สำหรับวิชาใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็น และครูก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่ไปกับความทรงจำเก่าของเด็กได้หรือไม่ เพราะเด็กแต่ละคนก็ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมือนกัน ถ้าเรามีข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างความทรงจำระยะยาวหลาย ๆ วิธีก็คงจะช่วยลูกศิษย์เราได้ง่ายขึ้น สิ่งที่จะช่วยได้ชัดเจนก็คือ การใช้ดนตรี ศิลปะ การเคลื่อนไหวเป็นฐานในการสร้างบทเรียนใหม่ ๆ ให้เด็ก เช่น ถ้าต้องการเพิ่มคำศัพท์ต่าง ๆ ให้มากขึ้นทั้งวลี ประโยคยาวขึ้น แทนที่จะสอนให้อ่านหนังสือที่น่าเบื่อ คุณครูหรือพ่อแม่ควรหาเพลง คำกลอน (ไม่ต้องเป็นเพลงฮิตติดตลาดก็ได้ แม้แต่เพลงที่แต่งขึ้นเองก็ได้ เพลงอาจไม่เพราะด้วยหูของเรา แต่ถ้าเด็กสนุกและชอบมัน ก็ถือว่าเราทำได้ถูกต้องและเด็กจะจดจำได้ง่ายและรวดเร็วด้วย) เพราะว่า ดนตรี เพลง ศิลปะ และการเคลื่อนไหวจะกระตุ้นส่วนของอารมณ์ความรู้สึกเด็กให้สนใจ ชอบ ตื่นเต้น ท้าทาย และเข้าสู่บทเรียนใหม่ได้ง่ายขึ้นมาก และยังช่วยกระตุ้นเสริมความทรงจำอีกด้วย ขณะเดียวกันอย่าลืมให้เด็กเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือน แตกต่าง กับสิ่งที่กำลังเรียนรู้อยู่ ซึ่งจะช่วยทำให้เด็กเข้าใจเรื่องที่เรียนอยู่อย่างลึกซึ้งมากขึ้นด้วย
รู้จักความทรงจำระยะยาว
ต่อไป มาทำความเข้าใจเรื่องความทรงจำระยะยาวซึ่งจะเป็นฐานสำคัญสำหรับเด็ก ๆ ในการดำเนินชีวิตเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่ต่อไป สำคัญมากก็คือ ความทรงจำที่จะอยู่นานไปจนถึงผู้ใหญ่อยู่บนฐานของการที่วงจรในสมองของเราหนาแน่นเพราะใช้บ่อย ๆ คงจำได้ว่า ในแต่ละเรื่องราวที่เราเก็บไว้ในความทรงจำ จะประกอบด้วยข่ายใยของเซลล์ประสาทเชื่อมโยงทั่วไปหมด นั่นคือต้องมีความเชื่อมโยงกับเซลล์รับสัมผัสทุกส่วน ไปกับส่วนที่ทำหน้าที่จัดระบบความจำ และไปถึงสมองส่วนบน เปลือกสมอง และสมองส่วนหน้า เพื่อจะสามารถใช้สมองส่วนหน้าของเราพิจารณาใช้ข้อมูลเมื่อถึงวาระที่จำเป็น ดังนั้นไม่ต้องกลัวเสียเปล่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่จะขยันและให้เวลากับลูกในการจัดบทเรียนประสบการณ์ในชีวิตจริง ๆ ฝึกให้ลูกใช้มือ นิ้วมือ ใบหน้า ในการจัดการกับปัญหาที่พบในชีวิตประจำวัน แม้แต่การยิ้ม ฝึกพูด นั่นก็คือการฝึกใช้กล้ามเนื้อรอบริมฝีปาก ลิ้น ฟัน เหงือก และส่วนอื่น ๆของใบหน้า ซึ่งเรามักจะละเลย เราคงเคยแปลกใจว่า ทำไมบางคนยิ้มสวย บางคนหน้าตาบูดบึ้งดุตลอดเวลา เหตุผลหนึ่งก็คือ คนเหล่านั้นไม่ได้รับการฝึกฝนในเรื่องการใช้กล้ามเนื้อใบหน้าอย่างใส่ใจมากพอ ถ้าในวัยเด็กชีวิตเคร่งเครียด ถูกตี ถูกว่าบ่อย ๆ หรือพื้นอารมณ์เดิมของเด็กค่อนข้างโกรธง่าย โกรธแรง และไม่ได้รับการช่วยเหลือประคับประคองและฝีกสอนให้ยิ้ม ก็จะพัฒนาบุคลิกภาพตอนโตในแบบที่เราอาจไม่ชอบเท่าไร .. เพราะฉะนั้นเราฝึกลูกเราได้ค่ะ
กลับมาเรื่องการช่วยพัฒนาลูกให้มีความสามารถในการใช้ความทรงจำระยะยาว จากประสบการณ์ตั้งแต่เด็กเพื่อวิเคราะห์แยกแยะสภาพที่ปรากฎหรือปัญหา แล้วสังเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่มีอยู่ในสมองออกมาเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาหรือตัดสินใจในการจัดการสิ่งรอบตัว ในวัยผู้ใหญ่ ประเด็นสำคัญที่คุณคงจับหลักได้แล้วก็คือ หากเด็กมีจำนวนข้อมูลในสมองมากเท่าไร ก็จะมีโอกาสมากกว่าเด็กที่มีข้อมูลหรือความทรงจำน้อย นั่นคือเบื้องต้น ถ้ามีข้อมูลมาก ๆ แต่ไม่รู้จักดึงออกมาใช้ก็จะกลายเป็นเสียเปล่า เพราะฉะนั้นการฝึกฝนลูกจึงต้องทำอย่างน้อย 2 กระบวนการคือ กระบวนการรับจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญเข้าไปในความทรงจำระยะยาว กับกระบวนการดึงข้อมูลออกมาใช้ได้เร็ว และมีประสิทธิภาพ ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เพื่อให้เห็นความแตกต่างของคนแต่ละคน ทุกท่านคงเคยได้ยินเรื่องเล่าตลกร้ายบ่อย ๆ ที่ว่า เวลาที่ไฟไหม้ใกล้บ้าน คนบางคนตกใจแล้วแบกตุ่มน้ำหรือตู้เย็นที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ ได้ โดยทิ้งกำปั่นทองหรือของมีค่าอื่น ๆ ให้ไหม้ไฟไป เราคงอยากรู้ว่า มีอะไรเกิดขึ้นในสมองของเขาที่ทำให้เขาตัดสินใจเช่นนั้น ถ้าเข้าใจเรื่องส่วนต่าง ๆ ของสมอง ก็จะเข้าใจได้ไม่ยากนัก หวังว่าคงจำได้ว่า เรามีสมองสำคัญ ๆ 3 ส่วนคือ ก้านสมอง (มรดกสมองจากสัตว์เลื้อยคลาน) ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการอยู่รอด และจะทำงานอย่างหนักหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตกใจ เกรงกลัวอันตรายที่มาคุกคาม หรือความเจ็บปวด สมองส่วนกลาง (ตกทอดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) ทำหน้าที่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและสังคม ควบคุมเรื่องอารมณ์ และเป็นส่วนจัดระบบความทรงจำ และสมองส่วนบน (เปลือกสมองและสมองส่วนหน้า) เป็นสมองมนุษย์จริง ๆ ทำหน้าที่ด้านเก็บข้อมูล ประสบการณ์ความทรงจำ การคิดวิเคราะห์ จินตนาการ สั่งการในเรื่องที่ต้องการข้อมูลและการคิดที่ซับซ้อน เวลาที่เราตกใจสมองส่วนดึกดำบรรพ์ของเรา คือ ก้านสมองจะทำงานเป็นแนวหน้า เพราะสมองรับรู้ว่าต้องหาทางเอาตัวรอดเห็นไฟมาใกล้บ้านแล้ว ก้านสมองจะตัดความรับรู้ของประสาทสัมผัสเกือบทั้งหมด และสั่งการให้กล้ามเนื้อคว้าของใกล้ตัว (หรือบางทีก็เป็นสิ่งของที่เรากำลังดำเนินกิจกรรมอยู่ด้วย เช่นกำลังเปิดตู้เย็น หรือ กำลังอาบน้ำ) และจะหลั่งสารเคมีไปตัดการคิดของเราทันที เพื่อตอบสนองได้ทันควันไม่ต้องคิดมาก พูดง่าย ๆคือ ทำตามสัญชาตญาณนั่นเอง ถ้าเช่นนั้นทำไมบางคนจึงสามารถรวบรวมสติไตร่ตรองว่า ในเวลาคับขันไฟไหม้ใกล้บ้านแล้วจึงเข้าไปค้นเอาของมีค่าแทนที่จะแบกโทรทัศน์หรือตุ่มน้ำออกมา นั่นก็เพราะ เขาได้รับการฝึกฝนให้มีสติก่อนจะถูกก้านสมองควบคุมให้ทำอะไรรีบด่วนตามสัญชาตญาณ นั่นหมายถึง เราจะต้องฝึกฝนเด็กของเราให้มีสติคิดใคร่ครวญก่อนจะผลีผลามลงมือทำ เพื่อฝึกให้เกิดวงจรสติในสมองส่วนหน้าที่จะมีความเข้มแข็งมากพอที่จะเอาชนะก้านสมองเมื่อถึงเวลาเหตุวิกฤต จวนตัว ดังที่ยกตัวอย่างมาแล้ว ซึ่งเราจะต้องฝึกลูกตั้งแต่เด็ก อีกสักตัวอย่างหนึ่ง ถ้าลูกของเราจะอ่านบทความยากสักบทหนึ่ง เขาต้องการข้อมูลบางส่วนที่มีอยู่ในสมองที่เชื่อมโยงกับเรื่องที่เขาอ่าน จึงจะทำความเข้าใจส่วนที่ยากขึ้นได้ หากว่าอ่านแล้วไม่รู้เรื่องอะไรเลย สมองว่างเปล่า เช่น คุณที่ไม่เคยเรียนเกี่ยวกับกฎหมาย ไปอ่านตำรากฎหมาย ศัพท์บางคำที่เราไม่เคยเห็นเราไม่เข้าใจ ก็อาจทำให้เราไม่เข้าใจข้อความในตัวกฎหมายนั้นเลย หรือ กฎด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน การธนาคาร ถ้าเราไม่เคยรู้จักศัพท์ที่เขาใช้ในตำรานี้เลย ก็เป็นการยากที่จะเข้าใจทฤษฎีเหล่านั้นได้ง่าย ๆ ถ้าเราฝึกให้ลูกอดทนที่จะฝ่าฟันเรื่องยาก ที่แม้ว่าตอนแรกจะไม่เข้าใจเลย แต่ค่อยๆ เรียนรู้ไปทีละนิด ลูกก็จะสะสมความอดทน สติ และสามารถทำความเข้าใจเรื่องยาก ๆ ได้ทีละเล็กละน้อยจนสามารถประสบความสำเร็จได้ จากเรื่องเล็ก ก็จะก้าวไปสู่เรื่องใหญ่ต่อไป เพราะฉะนั้นก้าวแรกในบ้านและในโรงเรียนเด็กเล็กจนถึงประถมศึกษาเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยลูก ๆ ให้ประสบความสำเร็จและดำเนินชีวิตได้ดีตามควรเมื่อเป็นผู้ใหญ่ อย่าลืมว่า ก้าวใหญ่เริ่มจากก้าวเล็ก ๆ ในวัยเด็กเสมอ
พบกันฉบับหน้าค่ะ เราจะคุยกันต่อเรื่องความทรงจำระยะยาว