|
6925Visitors | [2017-09-22]
จากสมองสู่สมอง …... ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี
โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ
ตอน ความทรงจำระยะยาว (3)
ฉบับที่แล้วเข้าเรื่องความทรงจำระยะยาว http://www.tmwa.or.th/new/view.php?topicid=708เพื่อใช้เผชิญปัญหาวิกฤต เรื่องยากไปแล้ว ที่สำคัญคือการฝึกวงจรสติให้เท่าทัน เพื่อมิให้ตกเป็นรองสมองส่วนสัญชาตญาณมากเกินไป จนทำอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างที่ได้เกริ่นในฉบับที่แล้ว จัดแบ่งความทรงจำระยะยาวเป็น 2 ประเภทคือ ความทรงจำที่ชัดเจนเห็นได้ง่าย กับ ความทรงจำที่แสดงเป็นนัย จับต้องเป็นรูปธรรมไม่ชัดเจน
มาทำความเข้าใจความทรงจำแต่ละแบบเพื่อจะเข้าใจและคิดกิจกรรมหรือวิธีที่จะช่วยลูก ๆ ของเราสร้างความทรงจำ แต่ต้องไม่ลืมว่า ความทรงจำทุกระบบจะทำงานร่วมกันเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่
ความทรงจำที่ชัดเจน ปรากฏเป็นรูปธรรมในสมองของเรา เราใช้ความทรงจำส่วนนี้เมื่อเราต้องดึงข้อมูลจากสิ่งที่ตั้งใจเรียนรู้ในอดีต โดยแบ่งได้เป็น 2 ระบบย่อยคือ ชุดความทรงจำที่เกี่ยวเนื่องด้วยสัญลักษณ์ เช่น คำ ประโยค ความคิด ซึ่งเราจะสะสมจากข้อมูลทั้งผ่านการมองเห็น ได้ยินเสียง ทั้งที่เป็นตัวหนังสือ ภาพ ฯลฯ ซึ่งเด็ก ๆ จะค่อย ๆ สะสมและสร้างเป็นแนวคิดจากง่าย ๆ มาสู่สิ่งที่ยากขึ้น เช่น ก่อนเด็กจะเข้าใจเรื่อง “แรงโน้มถ่วงของโลก” สมองเด็กจะซึมซับจากทุกวาระที่มองเห็น (อาจมีคนอธิบายหรือไม่มี) ว่า ใบไม้ กิ่งไม้ และสิ่งต่าง ๆ จะตกลงจากที่สูงลงสู่พื้นดินเสมอ อาจตกช้าหรือเร็วก็คือตก แน่นอนเด็กไม่เข้าใจว่าทำไมสิ่งต่าง ๆ จึงตกลงมาสู่ดินหรือสู่ที่ต่ำกว่าเสมอ ก็คงตั้งคำถามกับคุณพ่อคุณแม่ หรือคุณครู ผู้ใหญ่อย่าเบื่อนะคะ หากลูก ๆ เฝ้าแต่ถามเรา แม้เราจะพยายามอธิบาย (ส่วนมากเราอธิบายด้วยภาษาผู้ใหญ่ เพราะเราเข้าใจเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลกมาแล้ว) ยิ่งลูกเล็กเท่าไร ก็ต้องพยายามหาคำพูดที่ง่าย และเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด โดยให้ลูกได้ทดลองด้วยตนเอง ในตอนแรกลองให้ลูกโยนลูกบอลเล็ก ๆ ขึ้นฟ้า แล้วก็ให้สังเกตโดยเราคอยตั้งคำถามว่า ลูกเห็นอะไรบ้าง ลูกบอลขนาดเล็ก กับลูกบอลขนาดใหญ่แตกต่างกันอย่างไร ตกลงเร็วหรือช้า ตกลงในลักษณะแนวดิ่ง หรือ แนวโค้ง ถ้าให้ดี ก็เตรียมเครื่องชั่งน้ำหนักไว้ ให้ลูกลองชั่งดูว่า ลูกบอลหรือสิ่งของอื่น ๆ (โดยเราคอยช่วยเหลือ กระตุ้น และระมัดระวังด้านความปลอดภัย) หาสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์แทนน้ำหนักหากลูกยังขีดเขียนบันทึกน้ำหนักไม่ได้ โดยให้ลูกชั่งน้ำหนักแล้วลองยกด้วยตัวเอง อันไหนหนักกว่ากัน อันที่หนักกว่า ตกลงมาเร็วกว่าไหม ก็เป็นตัวอย่างที่เราจะทำให้เด็กเริ่มเข้าใจกฎเรื่องแรงโน้มถ่วง ยังไม่ต้องอธิบายว่า แรงโน้มถ่วงมาจากไหน ถ้าลูกถามก็เอาสาระนุกรมเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเปิดดูด้วยกันก่อน แล้วค่อย ๆ บอกว่าตอนนี้ลูกอาจยังไม่เข้าใจ แต่ให้ทดลองไปเรื่อย ๆ สมองของลูกจะบันทึกความรู้ ผลการทดลองด้วยตนเอง (ร่วมกับคุณพ่อคุณแม่) ค่อย ๆ เข้าใจเรื่อง แรง น้ำหนัก ความเร็ว โดยไม่ต้องให้ท่องจำ และนี่คือการปลูกฝังให้ลูกเข้าใจ รู้จัก และชอบกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทำกับเรื่องต่าง ๆ รอบตัวแบบนี้ เรากำลังสร้างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักหาความจริง ตัวเล็ก ๆ แน่นอนโตขึ้นย่อมมีความสามารถมากกว่าเด็กที่ไม่มีโอกาสเรียนรู้เช่นนี้อย่างแน่นอน และถ้าเราร่วมมือกันตั้งแต่ครอบครัวเมื่อลูกยังเล็ก ๆ ๆ ๆ แล้วมาส่งต่อให้คุณครูในโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปถึงประถมศึกษาอย่างเป็นระบบ ความฉลาดทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม และจริยธรรม ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเด็กอีกต่อไป
ความทรงจำที่แสดงออกเป็นนัย ๆ
เป็นความทรงจำที่เราดึงมาใช้โดยไม่รู้ตัว เราจะพบว่า บ่อยครั้งที่เราเลียนแบบคำพูดของคนอื่น โดยเราไม่รู้ตัว เช่น เราไม่รู้จักคำว่า “อานาปานสติ” มาก่อน แล้ววันหนึ่ง เราได้ยินผู้ที่เราเคารพนับถือพูดถึงเรื่องนี้ เราไม่ได้ตั้งใจจะจดจำคำ ๆ นี้ไว้ แต่เราได้ซึมซับไว้โดยไม่รู้ตัว แล้วหลายวันต่อมา เราไปถกเรื่องธรรมะกับเพื่อน แล้วเราก็พูดคำ ๆ นี้ออกมาได้ทันที ที่ง่ายกว่านี้ ก็คือ คำสบถ คำพูดติดปากทั้งหลาย ทั้งที่สุภาพและไม่สุภาพ โดยเฉพาะเราไม่เคยสอนลูกเราให้สบถ แต่ทำไมเด็กจึงสบถตามเราได้อย่างรวดเร็ว ก็เพราะความทรงจำส่วนนี้มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเรามากทีเดียว ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจเรื่องนี้ ก็จะต้องมีสติในการพูดคุยกันในบ้าน ในขณะที่ลูก ๆ ฟังเราอยู่ หรือ พฤติกรรมอะไรที่เราไม่ชอบ แต่เราก็เผลอทำออกไป เช่น ด่าสุนัข แต่เราไม่เคยสอนและไม่อยากให้ลูกรู้จักคำด่าใช่ไหม แต่เราเผลอทำไปแล้ว สมองของลูกก็นำไปเก็บไว้ในความทรงจำส่วนนี้แล้ว โดยเฉพาะการซึมซับจากคนใกล้ชิดแบบซ้ำ ๆ ๆ ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจสอนเลย และจะเป็นปัญหาที่เราต้องกลับมาฝึกสอนเด็กใหม่ ให้ลืมสิ่งที่เราไม่ตั้งใจสอน เช่น พูดไม่เพราะแม่ไม่ชอบ แต่คนในบ้าน (เช่นคนเลี้ยงเด็ก) พูดให้ฟังบ่อย ๆ โดยไม่ตั้งใจ คุณแม่ก็จะต้องกลับมาพยายามสอนลูกให้พูดเพราะ ซึ่งจะยากขึ้นมาก