|
11066Visitors | [2017-10-08]
การฟื้นฟูคนใกล้ชิดที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
ผศ.(พิเศษ)พญ.รัชวรรณ สุขเสถียร
ทำความรู้จักโรคหลอดเลือดสมอง
พอพูดถึงโรคหลอดเลือดสมองฟังดูน่ากลัวและใกล้ตัว หลายท่านคงจะมีประสบการณ์ได้ยินข่าวคนรู้จักหรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคนี้ บางคนเสียชีวิต บางคนพิการ บางคนกลับมาเกือบปกติ เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันก่อนนะคะ
โรคหลอดเลือดสมองคือโรคที่มีพยาธิสภาพของหลอดเลือดสมองเช่น หลอดเลือดตีบ แตก หรือตัน ทำให้สมองบริเวณนั้นทำงานบกพร่อง อาการของผู้ป่วยจึงมีความหลากหลายตามแต่บริเวณของสมองที่มีปัญหา โดยทั่วไปปัญหาความบกพร่องที่พบ ได้แก่ อ่อนแรงครึ่งซีก เดินไม่ได้หรือผิดปกติ แขนอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด กลืนอาหารลำบาก พูดไม่ได้หรือมีปัญหาการสื่อสาร และอื่นๆ
โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตและความพิการอันดับต้นๆ จากสถิติโรคหลอดเลือดสมองจากการศึกษาวิจัยในประเทศไทยพบความชุกของโรคหลอดเลือดสมองคือ 1.88% ในกลุ่มอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปีมีความชุก 2.7% โดยพื้นที่กรุงเทพมีความชุก 3.34% ภาคกลาง 2.41% ภาคใต้ 2.29% ภาคเหนือ 1.46% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.09% ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความชุกคือ เพศชาย อาชีพ พื้นที่ที่อาศัย ความดันโลหิตสูง เบาหวานและภาวะไขมันในเลือดสูง(1)
การป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง
แม้ว่าเราไม่สามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ทั้งหมดแต่ส่วนหนึ่งสามารถป้องกันได้ ทุกท่านคงอยากอยู่ในกลุ่มนี้ที่อยากลดโอกาสที่จะเกิดโรค จึงขอแนะนำดังนี้นะคะ
• แนะนำให้ตรวจร่างกายเพื่อหาโรคประจำตัวและทำการรักษา โดยเฉพาะ โรคหัวใจ เช่นหัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวใจผิดปกติ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อ้วน
• หากมีโรคประจำตัวอยู่ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ขอให้พบแพทย์และรักษาอย่างสม่ำเสมอ
• ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี
• หากสูบบุหรี่แนะนำให้เลิกสูบ
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (หากไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนหรือไม่มั่นใจในการเริ่มออกกำลังกายแนะนำให้ปรึกษาแพทย์)
• กินอาหารกากใยสูง ลดแป้ง น้ำตาล ไขมัน รสเค็ม นมเนย เนื้อสัตว์
• ลดน้ำหนักหากน้ำหนักเกินหรืออ้วน
การรักษาเมื่อเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับการประเมินและรักษาจากทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แต่ละโรงพยาบาลได้กำหนดแนวทางการดูแลผู้ป่วยซึ่งสามารถเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินเมื่อมีอาการและสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือโทร. 1669 การมาถึงโรงพยาบาลเร็วจะเพิ่มโอกาสในการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิตและพิการได้
เพื่อง่ายต่อการจำอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อพบผู้ที่มีอาการดังนี้ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลหรือโทร. 1669 = FAST
• Face หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว
• Arm อ่อนแรง
• Speech พูดไม่ชัด พูดลำบาก
• Time ให้รีบโทร. 1669
ปัจจุบันมีการรักษาทั้งการให้ยาและการผ่าตัดตามแต่พยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละรายในขณะเดียวกันก็พยายามป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น สมองถูกทำลายเพิ่ม การสำลักอาหาร ข้อติด และแผลกดทับ
เข้าสู่การฟื้นฟูสมรรภาพ
ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องเหลืออยู่หลังจากการรักษาในระยะเฉียบพลันแล้ว ควรได้รับการประเมินอาการอย่างละเอียดเพื่อหาความบกพร่องทางสมอง เช่น ความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว การสื่อสาร การพูด การกลืน การรับรู้ การคิดวิเคราะห์ อาการซึมเศร้า ซึ่งความบกพร่องบางอย่างประเมินเห็นปัญหาได้ง่าย แต่บางอย่างต้องใช้การตรวจที่ละเอียดและจำเพาะ ตามมาด้วยการวางแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพตามปัญหาและความบกพร่องของผู้ป่วยแต่ละรายโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย นักจิตวิทยา และอื่นๆ
การเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพนั้นจะแตกต่างกันไปตามโรงพยาบาลและสิทธิการรักษา ผู้ป่วยบางคนอาจได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในโรงพยาบาลหรือศูนย์ฟื้นฟู บางคนอาจถูกส่งตัวไปฟื้นฟูสมรรถภาพที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน บางคนอาจให้กลับไปฟื้นฟูสมรรถภาพต่อที่บ้าน ขึ้นกับระบบบริการสุขภาพและอาการของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามผู้ป่่วยควรได้รับการติดตามอาการและผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพและควรบรรลุเป้าหมายของการฟื้นฟูภายใน 6 เดือน (โดยทั่วไปภายใน 3-4 เดือน)
หากมีคนใกล้ชิดที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เราจะช่วยอะไรได้บ้าง
หากท่านมีญาติหรือคนที่รักเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หลังจากผู้ป่วยปลอดภัยและสิ้นสุดการรักษาในระยะเฉียบพลันแล้ว ขอแนะนำให้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพต่อโดยเร็วเท่าที่อาการของผู้ป่วยจะไหว ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินเพื่อพิจารณาการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสม เช่น การฝึกเดิน ฝึกใช้มือ ฝึกพูด ฝึกกลืน และลักษณะการฝึกที่ควรได้รับ เช่น ฝึกเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล ฝึกแบบผู้ป่วยนอก ฝึกต่อที่บ้าน โดยผู้ป่วยที่เหมาะกับการฝึกเองต่อที่บ้านหรือดูแลโดยทีมสาธารณสุขในพื้นที่ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย เช่น สามารถขยับแขนขาได้ทั้งหมด อาจยังรู้สึกอ่อนแรง แต่ขยับได้ทุกข้อ ลุกนั่งได้ พูดคุยได้ และไม่มีความบกพร่องอื่น ซึ่งกลุ่มนี้จะสามารถฟื้นตัวได้ดีมากและมักกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติโดยได้รับคำแนะนำหรือฝึกเพียงเล็กน้อย และอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ไม่สามารถทำตามสั่งหรือไม่สามารถสื่อสารได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลป้องกันภาวะแทรกซ้อนแต่ยังไม่สามารถฟื้นฟูได้มากนัก อาจทำได้เพียงการกระตุ้นให้ตื่น กระตุ้นการสื่อสาร การรับรู้ ขยับไม่ให้ข้อติด กล้ามเนื้อตึง พาลุกนั่ง และพลิกตัว ป้องกันแผลกดทับ
นอกจากนี้การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีความบกพร่องและความพิการต้องอาศัยทั้งแรงกายและกำลังใจ คอยเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอและเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูสมรรถภาพ บ่อยครั้งที่เห็นญาติช่วยเหลือผู้ป่วยโดยลืมนึกไปว่าการส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกและฟื้นฟูผู้ป่วย การเข้าใจโรคและการฟื้นฟูจึงมีความสำคัญ ผู้ป่วยที่มีปัญหาซึมเศร้าต้องการการเฝ้าสังเกตและรักษา ผู้ป่วยที่มีปัญหาสื่อสารอาจมีความเครียด กำลังใจของผู้ป่วยและผู้ดูแลเป็นส่วนสำคัญที่หากครอบครัวและคนรอบข้างมีให้ได้จะช่วยให้การฟื้นฟูประสบผลดี
จะมีอะไรที่ช่วยพยากรณ์ความสามารถหลังการฟื้นฟูสมรรถภาพได้บ้าง
จากที่ทราบแล้วว่าผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน การที่จะพยากรณ์ว่ารายใดจะมีผลการรักษาฟื้นฟูดีจนปกติ เกือบปกติ มีความพิการบ้าง มีความพิการปานกลางหรือรุนแรงนั้น อาศัยหลายปัจจัยด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น
• ความรุนแรงและความบกพร่องของการทำงานของสมอง
• อายุของผู้ป่วย อายุน้อยมักจะฟื้นสภาพได้ดีกว่า
• พยาธิสภาพของสมอง ว่าเป็นบริเวณใหญ่แค่ไหน และอยู่บริเวณตำแหน่งใดของสมอง
• โรคร่วมอื่นๆ หากมีโรคร่วมอื่น มักเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคทางจิตเวช และโรคไต
• สุขภาพก่อนป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หากมีความพิการพึ่งพิงก่อนป่วยมักมีผลลัพธ์หลังการรักษาฟื้นฟูไม่ดี
• การได้รับการรักษา เร็วหรือช้า การตอบสนองต่อการรักษา
สมองมีการฟื้นตัวได้หรือไม่
แต่เดิมมีความเชื่อว่าสมองส่วนใดถูกทำลายไปแล้วจะมีการเสียการทำงานไปอย่างถาวร แต่ในปัจจุบันพบว่าสมองมีการฟื้นตัวได้ และมีส่วนของสมองบริเวณข้างเคียงสามารถทำงานทดแทนส่วนที่มีรอยโรคได้ แม้จะไม่ใช่ว่าสมองจะกลับมาทำงานได้ปกติดีทั้งหมด แต่ก็เป็นข่าวดีที่ผู้ป่วยมีความหวังที่จะดีขึ้น จากงานวิจัยพบว่าผู้ป่วย 40% มีการฟื้นตัวใน 24 ชั่วโมง(2) ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องไม่มากจะฟื้นตัวภายใน 2 เดือน ส่วนรายที่มีความบกพร่องปานกลาง รุนแรงและรุนแรงมากจะมีการฟื้นตัวภายใน 3, 4 และ 5 เดือนตามลำดับ(3) หากได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสมจะยิ่งทำให้การทำงานของร่างกายนั้นเป็นไปอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เอกสารอ้างอิง
1. Hanchaiphiboolkul S, Poungvarin N, Nidhinandana S, Suwanwela C, Puthkhao P, Towanabut S, et al. Prevalence of stroke and stroke risk factors in Thailand: Thai Epidemiologic Stroke (TES) study. J Med Assoc Thai 2011;94(4):427-36.
2. Saver JL, Altman H. Relation between neurological deficit severity and final function outcome shifts and strengthens during first hours after onset. Stroke 2012;43(6):1537-41.
3. Jorgensen H, Nakayama H, Raaschou HO, Vive-Larsen J, Stoier M, Olsen TS. Outcome and time course of recovery in stroke. Part II: Time course of recovery. The Copenhagen stroke study. Arch Phys Med Rehabil 1995;76:406-12.