|
6525Visitors | [2017-11-06]
จากสมองสู่สมอง …... ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย 2
พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ
ฝึกความฉลาดทุกด้านให้ลูกน้อย (2)
ฉบับที่แล้วเราเริ่มเรื่องฝึกความฉลาดให้ลูกน้อยในด้านแรกคือ NI ความฉลาดในการเข้าใจธรรมชาติ และ อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์ ไปแล้ว วันนี้ขอคุยกับคุณแม่คุณพ่อ ในเรื่องการพัฒนาความฉลาดด้านภาษา ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ต่าง ๆ
ถ้าเปรียบเทียบระหว่างเด็กไทยกับเด็กอเมริกัน เราพบอย่างชัดเจนว่า เด็กไทยเริ่มพูดคำแรกช้ากว่าเด็กฝรั่ง กล่าวคือ เด็กไทยเฉลี่ยพูดคำแรกประมาณอายุ 11 เดือนครึ่ง ขณะที่เด็กฝรั่งพูดคำแรกประมาณ 8 เดือน ลูก ๆ เราพูดช้ากว่าเขาประมาณ 3 เดือนค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่า มันสำคัญนักหรือ ก็คงจะต้องดูผลการวิจัยจากทั่วโลกที่พบว่า พัฒนาการทางภาษาเป็นตัวชี้วัดระดับไอคิวของเด็กเมื่อโตขึ้น หมายความว่าอย่างไร เราจะวัดพัฒนาการทางภาษาตั้งแต่เล็ก ๆ ได้ก็คือ ดูว่า ลูกของเราเริ่มพูดภาษาเด็กเมื่อไร เริ่มพูดคำแรกเมื่อไร และเมื่อโตขึ้น ๆ ความสามารถในการฟัง พูด เข้าใจ และโต้ตอบกับคนรอบข้างเป็นอย่างไร การที่พูดคำแรกได้ช้ากว่ามาตรฐาน จะถือเป็นสัญญาณแรกที่จะเตือนคุณแม่คุณพ่อว่า เรายังกระตุ้นลูกไม่เพียงพอนะคะ
เคยมีญาติของเด็กคนหนึ่งสอบถามในระหว่างการบรรยายที่ต่างจังหวัดว่า “คุณหมอคะ หลานอายุ 2 ขวบกว่าแล้ว ยังไม่พูดเลย จะทำอย่างไรดี” ก็เลยถามกลับไปว่า แล้วเด็กสื่อสารความต้องการอย่างไร เช่น อยากทานอะไร อยากได้อะไร มีปัญหาอะไร เขาบอกผู้เลี้ยงดูเขาอย่างไร ก็ได้รับคำตอบที่น่าตกใจว่า “หลานก็ไม่ต้องพูดค่ะ เขาก็หันไปหาคุณย่า คุณย่าก็จะรู้ใจหลาน หามาให้หมดทุกอย่างเลย” คำตอบนี้คงทำให้ผู้อ่านเข้าใจปัญหาที่เด็กไม่พูด เด็กไม่พูดเพราะไม่จำเป็นต้องพูด มีคุณย่าคอยประคบประหงม อยากได้อะไรก็หันไปหาคุณย่า ก็จะได้ทุกอย่าง แต่ถ้าท่านลองนึกภาพว่า เมื่อเด็กคนนี้ต้องเข้าไปโรงเรียนอนุบาล จะทำอย่างไร เพราะเด็กขาดประสบการณ์ในการสื่อสารกับคนอื่น แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า เด็กเข้าใจสิ่งที่เราพูดด้วย และมีความสามารถในการตอบสนองกับคนอื่นอย่างเหมาะสมหรือไม่ ถ้าเด็กไม่พูด .... กรณีเช่นนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากว่า เรารักลูกหลานในทางที่ผิดนะคะ เป็นเรื่องใหญ่สำหรับครอบครัวไทย เพราะเท่าที่ได้เคยสัมผัสครอบครัวจำนวนมากทั้งในชนบทและในเมือง มักมีความเชื่อว่า เด็กพูดช้าไม่เป็นไร ปากหนัก เดี๋ยวก็พูดได้เอง .... ความคิดเช่นนี้ จะทำให้ผู้ใหญ่ละเลยที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาของเด็ก และทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะฝึกฝนความสามารถที่สำคัญมากด้านนี้ และ มีโอกาสที่จะถูกทำให้ไอคิวต่ำอย่างน่าเสียดาย
มาเข้าเรื่องการกระตุ้นความฉลาดด้านภาษา สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ขอให้เริ่มได้เลยค่ะ พูดกับลูกทุกเรื่อง ทุกกิจกรรมที่เราทำ ขอให้พูดกับลูกไปด้วย เสียงของคุณแม่จะส่งผ่านมดลูก น้ำคร่ำ สายสะดือ เข้าไปที่สมองของลูก กลางคืนก็เล่านิทาน อ่านหนังสือกับคุณพ่อ ลูกก็จะได้ฟังไปด้วย ตอนนี้ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า วิธีนี้จะช่วยพัฒนาการสมองของลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง อ้อ อย่าลืมเปิดเพลงช้า ๆ เบา ๆ (ที่เขาเรียกว่า โมสาร์ทเอฟเฟค เราสามารถใช้เพลงไทยบรรเลงช้า ๆ ท่วงทำนองฟังสบาย ๆ แทนเพลงคลาสสิคของฝรั่งได้ค่ะ และยังปลูกฝังความเป็นไทยด้วย) ถ้าพูดจนเหนื่อยเมื่อยแล้ว ก็เปิดเพลงให้ลูกฟังแทน สลับกันไป เมื่อลูกคลอดแล้วก็ขอให้ทำต่อเนื่อง คือ พูดกับลูกทุกกิจกรรมที่คุณทำกับเขา เวลาพูดกับลูก ขอให้หันหน้าหาลูก มองหน้าเขา ให้ลูกมองเห็นปากของเราได้ชัดเจน พูดทีละคำช้า ๆ ชัด ๆ นี่คือวิธีช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาของลูกแต่เล็ก ๆ ที่ทำเช่นนี้ คือการที่ให้ลูกมองเห็นการขยับปาก และให้เขาฝึกการพูดจากเรา เด็กจะเลียนแบบขยับปากของเรา เด็กจะต้องฝึกการบังคับกล้ามเนื้อริมฝีปาก เหงือก ฟัน ลิ้น พร้อมกับกล้ามเนื้อที่บังคับกล่องเสียง เพราะฉะนั้น เราจะใช้วิธีพูดให้เขามองเห็น เพื่อสมองของเขารับภาพวิธีการขยับปากของเรา พร้อมกับเสียงก็จะประทับไปเป็นวงจรในสมอง ทำเช่นนี้ ลูกจะเริ่มพูดได้เร็วค่ะ ถ้าลูกของท่านยังพูดไม่ได้แม้อายุเลยขวบปีไปแล้ว อย่านิ่งนอนใจนะคะ ขอให้เริ่มฝึกลูกทันที ขยันฝึกลูก ไม่นานก็จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการภาษากลับมาได้
ขอย้ำเน้นว่า ภายใน 3 ขวบ ลูกควรจะเข้าใจภาษาที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอย่างน้อย หมื่นคำ ความเข้าใจภาษาหมายถึง ฟังเข้าใจ พูดโต้ตอบได้ถูกต้องในสิ่งที่กำลังคุยกันอยู่ ยังไม่ต้องสอนอ่านก็ได้ไม่เป็นไร และการสอนอ่านในปัจจุบัน ก็ไม่ต้องสอนให้รู้จักอักษร ก ไก่ ข ไข่ เพราะเด็กจะเรียนรู้คำ โดยสมองของเด็กทำวงจรภาพของคำเชื่อมกับภาพและเสียง (กลิ่น รส สัมผัส) ของสิ่งที่เรียนรู้ได้ทันที เช่น ถ้าเด็กรู้จักแมวในบ้านแล้ว พ่อแม่ก็เพียงแต่ใช้บัตรคำ “แมว” ให้ลูกดู และออกเสียงให้ลูกฟัง บอกลูกว่า นี่คือ “แมว” พร้อมกับชี้แมวที่บ้านให้ลูกทราบว่า แมวที่เขาเห็นทุกวัน เขียนแบบนี้ ไม่นานค่ะ ลูกจะอ่านคำว่าแมวได้ เด็กเล็กไม่จำเป็นต้องสอนตัวสะกดให้นะคะ ถ้าลูกรู้จักคำศัพท์ที่ใช้ประจำวันทั้งหมดมาจากบ้านแล้ว สบายมากเลยค่ะ เขาจะเรียนในโรงเรียนได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการเขียนก็ขอให้ฝึกการใช้นิ้วมือแต่เล็ก ๆ ถ้าท่านสังเกตลูกจะเห็นว่า ตอนเล็ก ลูกจะใช้มือกำสิ่งของทั้งมือ และคอยสังเกตว่า ลูกจะเริ่มหัดใช้นิ้วมือกับนิ้วชี้หยิบของเล็ก ๆ ได้ทีละน้อย ขอให้ฝึกลูกใช้นิ้วคีบของเล็ก ๆ (แต่ระวังต้องคอยดูอย่าให้เอาเข้าปากหรือยัดจมูกนะคะ) จะเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก สำหรับการจับดินสอและการทำงานอื่น ๆ ต่อไป
ของฝากวันนี้ ... ง่าย ๆ ไม่ยากค่ะ ไม่ว่าคุณแม่ คุณพ่อจะทำกิจกรรมอะไรในบ้าน ขอให้ลูกมีส่วนร่วมด้วยเสมอ คุยกับลูก เวลาทานข้าว เดินไปทำงาน ไปซื้อของ เยี่ยมญาติ ทุกกิจกรรมเป็นโอกาสทองที่พ่อแม่และลูกจะถามและตอบ ถามและตอบ ๆ เช่น เดินไปทำงานก็กระเตงลูกไปท้องนาด้วย ระหว่างทางมองเห็นดอกไม้ ถามลูกว่า ดอกไม้ดอกไหนสีแดง ดอกไหนสีเหลือง ลูกเห็นอะไรอีกบ้างระหว่างเดินไปท้องนา วันนี้ลูกใส่เสื้อสีอะไร หมั่นและขยันถามคำถามลูกเสมอ ๆ โดยเฉพาะคำถามที่จะกระตุ้นให้ลูกสังเกต คิด และ หาคำตอบ ด้วยตัวเองจากสิ่งรอบข้าง เป็นวิธีปลูกฝังให้เด็กใกล้ชิดและเริ่มเข้าใจธรรมชาติที่อยู่รอบตัวนะคะ...