วันอานันทมหิดล 9 มิถุนายน ของทุกปี วันอานันทมหิดล 9 มิถุนายน ของทุกปี
59863Visitors | [2018-06-09] 

วันอานันทมหิดล 9 มิถุนายน ของทุกปี 

( ข้อมูลจาก www.kapook.com )

วันอานันทมหิดล ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี เพื่อน้อมระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 
 

วันอานันทมหิดล
 

 

 
 
           เวียนมาบรรจบอีกครั้งในวันนี้สำหรับ วันอานันทมหิดล ซึ่งปวงชนชาวไทยต่างก็น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาธิคุณอันมีเป็นอเนกประการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่ยิ่งต่อวงการแพทย์และการศึกษา รวมถึงบำบัดทุกข์ของปวงประชาให้พสกนิกรมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

           โดยจากพระราชปรารภของพระองค์ ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า "ทรงต้องการให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน" นั้น ได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวแก่วงการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยยังมีการศึกษาด้านการแพทย์อยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น อีกทั้งพระองค์ยังทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันช่วยอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน ช่วยเหลือ ป้องกันรักษาให้ห่างหายจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง

           และเนื่องในโอกาสวันอานันทมหิดล เราก็จะพาทุกท่านมาร่วมย้อนรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล หรือ รัชกาลที่ 8  
 

ประวัติวันวันอานันทมหิดล

           สำหรับวันอานันทมหิดลนั้น เป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และด้วยความสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณอันมีเป็นอเนกประการ ปวงชนชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันอานันทมหิดล เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน
 


พระราชประวัติ 

           พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ทรงเป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งภายหลังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 

           สำหรับการศึกษา พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ก่อนศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ทำให้สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 7 เพื่อนำพระโอรสและพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งที่นั่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลก็ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมีเรมองต์ และได้ย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนนูแวลเดอลา ซูวิสโรมองต์ 

           เมื่อช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลในขณะนั้นมีมติเห็นชอบให้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นพระยศขณะนั้น ขึ้นครองราชย์สืบราชสันติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยมีพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา และเจ้าพระยายมราช ทำการบริหารแผ่นดินแทนพระองค์ที่มีพระชนพรรษาเพียง 8 พรรษา จนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ และหลังจากพระองค์ทรงงานไม่กี่ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี 

           แม้จะเป็นระยะเวลาที่ไม่นานนัก แต่ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการปกครอง การศาสนา และการศึกษา ตลอดจนการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร ณ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ พระองค์ได้มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในวันอานันทมหิดล

           1. พิธีวางพวงมาลา ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ซึ่งประดิษฐานหน้าอาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของคณาจารย์ แพทย์ พยาบาล นิสิตแพทย์และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน 

           2. พิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

           3. การจัดทำเข็มกลัดที่ระลึกเนื่องในวันอานันทมหิดล

           4. การจัดงานเสวนาเนื่องในสัปดาห์วันอานันทมหิดล

           5. การดำเนินกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล


ขอบคุณข้อมูลจาก
วิกิพีเดียกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาวิกิพีเดีย