แพทย์สตรีดีเด่นประจำปี2561ด้านบริการพญ.นภัทร แผ่ผล แพทย์สตรีดีเด่นประจำปี2561ด้านบริการพญ.นภัทร แผ่ผล
7255Visitors | [2018-12-24] 

CR:https://news.gimyong.comarticle5109

แพทย์สตรีดีเด่นประจำปี 2561 ด้านบริการ

พญ.นภัทร แผ่ผล

1. ประวัติส่วนตัว

พญ.นภัทร แผ่ผล  ตำแหน่ง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ

วุฒิการศึกษา  แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอนุมัติบัตรสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว

สถานที่ทำงานในปัจจุบัน กลุ่มงานบริการทางการแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา

2. ประวัติการทำงาน

ปฏิบัติงานที่ รพ.ปัตตานี  ตั้งแต่ เมษายน พ.ศ 2545 – มีนาคม 2546

ปฏิบัติงานที่ รพ.ละงู จ.สตูล ตั้งแต่ เมษายน 2546- ธันวาคม 2547

ปฏิบัติงานที่ รพ.เทพา จ.สงขลา ตั้งแต่ ธันวาคม 2547- กันยายน 2553

ปฏิบัติงานที่ รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี ตั้งแต่ ตุลาคม 2553- ปัจจุบัน

3.  ผลงานที่สำคัญดีเด่นและภาคภูมิใจ

3.1 หัวหน้าทีมเยี่ยมบ้านโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

การเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินผู้ป่วยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เป็นการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องหลังจากออกจากโรงพยาบาล รวมถึงเป็นการประเมินผู้ป่วยในบริบทที่เขาอยู่ ทำให้แพทย์สามารถ เห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ได้ชัดเจนขึ้น  ช่วยให้การวางแผนการรักษา การดูแล ได้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้ดียิ่งขึ้น เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่าง บุคลากรทางสุขภาพ กับคนในชุมชน เพิ่มการเข้าถึงบริการสำหรับกลุ่มด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วย ระยะสุดท้ายที่ประสงค์อยาก end of life ที่บ้าน

แพทย์ไม่สามารถออกแบบวิถีชีวิตของเขาได้ เรามีเพียงชำนาญในเรื่องความรู้  และเรากับผู้ป่วยอยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกัน หากต้องการให้การรักษา บรรลุผล โดยมีสัมพันธภาพที่ดี   ให้มาตัดสินใจวางแผนร่วมกัน ให้ผู้ป่วยเป็นฝ่ายออกแบบวิธีการรักษาเองในผู้ป่วยแต่ละราย  แต่ละครอบครัวแตกต่างกันอีก แพทย์จีงจำเป็นต้อง “รักษา เหมือนตัดเสื้อเฉพาะคน ไม่ตัดเสื้อโหล ”  หรือมุมมองคนไข้อาจจะอยู่สูงกว่า เรา เพราะเขาเป็นผู้เปิดโอกาสให้เรา ได้เรียนรู้ชีวิตจากเรื่องราวของเขา  ดังตามหลักคำสอนของ“พุทธฉือจี้” จากการทำงานในชุมชนทำให้โลกภายใน ตัวเราได้เติบโต จิตวิญญาณของการเข้าใจเพื่อนมนุษย์ การยอมรับในความแตกต่างด้าน ความคิด ความเชื่อของแต่ละคน เข้าใจถึงกฎตามหลักธรรมชาติถึงความเปลี่ยนแปลง

3.2  ผู้ช่วยเลขานุการเครือข่ายสุขภาพอำเภอนาทวี

ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ และ สหอาชีพในชุมชน  การตั้งรับรอผู้ป่วยที่ โรงพยาบาลอาจไม่เพียงพอสำหรับการดุแลสุขภาพ คนในชุมชนให้ดี  นอกจากแผนกผู้ป่วยนอกมีจำนวนผู้ป่วยแน่นแออัด ไม่สารถตรวจทัน อาจไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร การออกตรวจรักษา  ส่งเสริมป้องกัน ในชุมชน เป็นสิ่งสำคัญ  คนไข้สามารถเข้าถึงได้ง่าย  ลดต้นทุนในการเข้าถึงบริการแก่ผู้ป่วย เช่น ค่าเดินทาง ขาดรายได้ เด็กนักเรียนอาจต้องขาดเรียนเพราะ แม่ต้องพายายไปโรงพยาบาล เป็นต้น การสร้างเครือข่ายสุขภาพในชุมชน ทำให้งานขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น  อาศัยการกระตุ้นให้ดึงศักยภาพในการจัดการปัญหาสุขภาพ พัฒนาคุณภาพของชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นเจ้าของปัญหา  ดึงพลังทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา  ปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาร่วมมือกัน สร้างเครือข่ายสุขภาพ ( District health system : DHS )

3.3 ครูพี่เลี้ยง ในโรงพยาบาลชุมชน  ดูแลนักศึกษา ทั้งระดับ นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล และแพทย์ประจำบ้าน

รับผิดชอบเป็นพี่เลี้ยงดูแลนักเรียนแพทย์  นักเรียนพยาบาล สหวิชาชีพ แพทย์ประจำบ้านที่มาเรียน ฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน   ไปเยี่ยมบ้านดูผู้ป่วย ในชุมชน  พาให้เห็นการทำงานร่วมเครือข่ายสุขภาพและภาคประชาชนเพื่อให้นักเรียนได้เห็นรูปแบบคร่าวๆ ถึงสิ่งซึ่งเมื่อเขา เรียนจบไป เขาจะได้เจองานแบบไหน  และ มีวิธีการจัดการอย่างไรได้บ้าง ทำให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการผลิตบุคลากรทางการแพทย์กลับมาสู่ชุมชนมากขึ้น  

นอกจากดูแลการนักเรียนระดับต่ำกว่าปริญญา  คือ เป็นอาจารย์ในสถาบันสมทบดูแลการเรียนการสอนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ฝึกที่โรงพยาบาลสมเด็จฯนาทวีด้วย การสอนแพทย์ประจำบ้านมีความแตกต่างในแง่วัยวุฒิภาวะของผู้เรียน  การดูแลต่างกัน การประเมินการเรียนรู้ต่างกับนักเรียนแพทย์ ถือความท้าทายของอาจารย์  ให้อาจารย์พัฒนาตนเอง และมีโอกาสที่ดี ได้เข้าร่วมคณาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ศูนย์แพทยศาสตร์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ และ เครือข่าย โรงพยาบาลชุมชน ๑๑ แห่ง ในภาคใต้ตอนล่าง  ในการร่วมผลิตหลักสูตรแพทย์เพื่อชาวชนบท ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นอกจากครูต้องเพิ่มพูนความรู้สม่ำเสมอแล้ว ต้องใส่ใจและมีจิตวิญญาณที่ปรารถนาอยากให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ เป็น coach และ mentor ที่ดี โดยเฉพาะด้านคุณธรรม

3.4 หัวหน้าคลินิกจิตเวชและยาเสพติด

กระบวนการพัฒนาให้แต่ละโรงพยาบาลชุมชน พัฒนาศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ เริ่มทำเต็มรูปแบบ ประมาณปี ๒๕๕๓โดยมีอาจารย์จิตแพทย์จากโรงพยาบาลหาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยง ช่วยวางระบบ เพิ่มโอกาสพัฒนาความรู้ สามารถดูแลผู้ป่วยจิตเวช และยาเสพติดที่ไม่ซับซ้อนเข้าถึงยามากขึ้น ทำให้ได้เรียนรู้ว่าครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด ที่ใกล้ชิดผู้ป่วย หากภายในครอบครัวมีพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีผลการรักษาจะดีขึ้น ปัญหาสุภาพเป็นปัญหาปลายเหตุ แพทย์ควรใส่ใจในการเก็บรายละเอียดของผู้ป่วยแบบองค์รวมในการดูแลรักษา

4. รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ

  1. แพทย์ตัวอย่างดีเด่นภาคใต้ประจำปี พ.ศ. 2560 จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  2. บุคคลยอดเยี่ยมแห่งปี คนดีในดวงใจ ประจำปี พ.ศ. 2560 จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา

______________________________________________________________________