รู้ทันมะเร็งเต้านม ตัด-เติมเต้านมใหม่อย่างไรให้ไม่ทำร้ายจิตใจผู้หญิง รู้ทันมะเร็งเต้านม ตัด-เติมเต้านมใหม่อย่างไรให้ไม่ทำร้ายจิตใจผู้หญิง
6114Visitors | [2020-01-16] 

รู้ทันมะเร็งเต้านม ตัด-เติมเต้านมใหม่อย่างไรให้ไม่ทำร้ายจิตใจผู้หญิง 

แนะนำโดย ผศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน จาก http://www.manager.co.th/ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556 

 ผศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน


หากมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าคงไม่มีผู้หญิงคนใดอยากใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยเต้านมเพียงข้างเดียวทำให้การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันนอกจากมุ่งเน้นการรักษาให้หายจากโรคแล้ว ยังคำนึงถึงเรื่องของจิตใจผู้ป่วยมากขึ้นจึงได้พัฒนาการผ่าตัดแบบคงความสวยงามของเต้านมไว้ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องช้ำใจกับร่องรอยของโรคมะเร็งจากการสูญเสียเต้านม ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญอันเป็นสัญญลักษณ์ของผู้หญิง วันนี้ เราจึงมีบทความดีๆ จากโรงพยาบาลเวชธานี เกี่ยวกับการรักษามะเร็งเต้านมมาฝากกันค่ะ

       
        โดย ผศ.พญ.เยาวนุช คงด่านผู้อำนวยการ Breast Center โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงแนวทางในการรักษามะเร็งเต้านมโดยทั่วไปว่าการรักษามะเร็งเต้านมจะประกอบด้วย5วิธีได้แก่1.การผ่าตัด 2.การฉายแสง 3.การให้ยาเคมีบัด 4.การให้ยาต้านฮอร์โมน 5.การรักษาด้วยยาที่เป้าหมายมะเร็ง


       
        “หากจะรักษามะเร็งให้หาย การผ่าตัดเป็นด่านแรกที่สำคัญ มีคำพูดที่ว่าการรักษามะเร็งเต้านมถ้า NO SURGERY NO CURE หากหวังว่าจะหายจากมะเร็งต้องสามารถตัดมะเร็งออกได้หมด สำหรับการผ่าตัดจะประกอบด้วย การผ่าตัดเต้านมและผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้เพื่อดูว่ามีมะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ และยังเป็นการควบคุมโรคด้วย เดิมการเลาะต่อมน้ำเหลืองจะทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดออกมาตรวจ การทำวิธีนี้มีผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่ทำให้แขนข้างเดียวกันบวมได้ง่าย ทำให้มีการพัฒนาวิธีการหาต่อมน้ำเหลือง ด้วยการฉีดสารไปที่ตำแหน่งของมะเร็งและทำการผ่าตัดติดตามทางเดินน้ำเหลืองว่าไปต่อมน้ำเหลืองไหนเป็นต่อมแรก นำต่อมนี้มาตรวจเพียงต่อมเดียว หากไม่มีมะเร็ง ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะเลอะต่อมน้ำเหลืองที่เหลือ วิธีนี้เรียกว่าการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล ทำให้ลดข้อแทรกซ้อนเรื่องการเกิดแขนบวมได้มาก"
       
        ส่วนการผ่าตัดเต้านมในปัจจุบันมี 2 แบบ คือ การผ่าตัดแบบเก็บเต้านม และการตัดเต้านม การจะเลือกผ่าตัดด้วยวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย
       
       แบบแรก เป็นการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่พบก้อนในเต้านมอยู่ตำแหน่งเดียวไม่พบการกระจายของก้อนบริเวณเต้านมแต่วิธีนี้ต้องมีการฉายแสงร่วมด้วยจึงจะให้ผลเทียบเท่ากับการตัดเต้านม
       
       แบบที่สอง เป็นการผ่าตัดแบบตัดเต้านมออกทั้งหมด ถ้าทำในผู้ป่วยที่อายุยังไม่มากอาจมีผลกระทบด้านจิตใจได้
       
       การผ่าตัดแบบเก็บเต้านม ในผู้ป่วยบางคนมีข้อจำกัดเช่น เต้านมเล็กเกิน การตัดเนื้อเต้านมออกบางส่วนทำให้เต้านมเกิดการผิดรูปได้ หรือในผู้ป่วยที่มีเต้านมขนาดใหญ่ห้อยย้อยมากๆ การทำผ่าตัดแบบเก็บเต้านมอาจทำให้การฉายแสงได้ไม่สม่ำเสมอ หรือรายที่มีข้อจำกัดเช่นมะเร็งอยู่บริเวณหัวนม มะเร็งขนาดใหญ่มาก แต่เดิมเป็นข้อจำกัดในการทำผ่าตัดแบบเก็บเต้านม แต่ปัจจุบันข้อจำกัดเหล่านี้สามารถจัดการได้ด้วยเทคนิคการผ่าตัดแบบ Onco-plastic เป็นการนำเทคนิคการผ่าตัดแบบเสริมความงามมาร่วมกับเทคนิคผ่าตัดมะเร็งมาใช้ โดยอาจจะทำการแก้ไขเต้านมด้านตรงข้ามให้มีความสวยงามมากขึ้นเหมือนๆ กันทั้งสองข้าง เช่น เทคนิกการย้ายไขมันจากบริเวณใกล้เคียง การผ่าตัดลดขนาด การยกระดับหัวนมเป็นต้น
       
       กำจัดมะเร็งควบเสริมเต้าในคราวเดียวกัน
       
       เป็นพัฒนาการด้านการผ่าตัดมะเร็งและเสริมเต้านมหลังเอามะเร็งออก เดิมการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรอประมาณ 2 ปี เพื่อให้แน่ใจว่ามะเร็งไม่กลับมาใหม่แล้วจึงทำการผ่าตัดเสริมเต้านมแต่ปัจจุบันเทคโลยีต่างๆ ก้าวหน้าไปมาก ทำให้แพทย์มีแนวทางใหม่ในการผ่าตัดเสริมเต้านมโดยเป็นการผ่าเสริมเต้านมในคราวเดียวกันกับการผ่าตัดเอามะเร็งออกด้วยเนื้อผู้ป่วยเอง โดยอาจนำเนื้อมาจากท้องน้อย หรือไขมันและกล้ามเนื้อจากหลัง ย้ายมาทำเต้านมใหม่ ในรายที่เนื้อผู้ป่วยเองไม่เพียงพอ อาจต้องใช้ถุงซิลิโคนมาช่วยเสริม การผ่าตัดเสริมเต้านมจะทำหลังการตัดเต้านมมากกว่า 2 ปี ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานกับภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันเมื่อทำการผ่าตัดในคราวเดียวกันกับการตัดนมทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์ใจ ทำการผ่าตัดเพียงรอบเดียว และผลในเรื่องความสวยงามก็จะดีกว่าด้วย
       
        สำหรับเทคนิคในการผ่าตัดพร้อมเสริมเต้านมทันทีนั้น ผศ.พญ.เยาวนุช เผยว่า การย้ายไขมันและกล้ามเนื้อที่ท้อง หรือแผ่นหลังของผู้ป่วยเองมาปลูกถ่ายทดแทนส่วนที่ถูกตัดออกไปซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันดังนี้
       
       ผ่าตัดแล้วเสริมเต้าด้วยไขมันหน้าท้อง
       
       การผ่าตัดในลักษณะนี้จะเป็นการผ่าตัดใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 4-5 ชม.โดยการนำเอากล้ามเนื้อและไขมันหน้าท้องมาเสริมเต้านมในส่วนที่ตัดออกไปข้อดี คือ นอกจากรักษามะเร็งเต้านมแล้วยังถือโอกาสกำจัดไขมันส่วนเกินที่หน้าท้องไปพร้อมกัน และยังได้เต้านมที่สวยงามกลับคืนมาหลังการผ่าตัดเพียงครั้งเดียวแต่มีข้อที่พึงระวังคือต้องใช้เวลาในการพักฟื้นอย่างน้อย 5-7 วัน
       
       การฉีดไขมัน
       
        นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่เคยทำการผ่าตัดเต้านมมาก่อนแล้วมีลักษณะเต้านมที่ผิดรูปร่าง ยังสามารถใช้เทคนิคด้วยการใช้เข็มขนาดเล็กดูดไขมันจากร่างกายส่วนอื่น มาทำการปั่นแยกเฉพาะเซลล์ไขมันและฉีดเข้าไปบริเวณที่แก้ไข ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมีแผลผ่าตัดเพื่อแก้ไข มีเพียงรอยรูเข็มเล็กๆ เท่านั้น
       
       เทรนด์ใหม่ใช้กล้ามเนื้อหลังเสริมเต้าให้สวยเท่ากันทั้งคู่
       
        สมัยก่อนวิธีนี้มีข้อจำกัดในการเลาะกล้ามเนื้อหลังทำให้ได้กล้ามเนื้อปริมาณไม่เพียงพอต่อการเสริมเต้า ต่อมาศัลยแพทย์มีความชำนาญและมีเทคนิคในการนำกล้ามเนื้อบริเวณหลังมาใช้เสริมเต้านมได้เพียงพอสำหรับ 2 เต้า เพื่อให้ได้เต้านมที่สวยงามเหมือนกันทั้งคู่
       
        โดยศัลยแพทย์จะเริ่มต้นจากประเมินปริมาณและการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณหลังซึ่งการประเมินนี้จะสามารถประมาณขนาดของเต้านมที่เสริมสร้างใหม่ได้ในผู้ป่วยที่บริเวณหลังผอมบางจะมีกล้ามเนื้อเพียงพอในการสร้างเต้านมขนาดเล็กเท่านั้นถ้ามีไขมันและกล้ามเนื้อบริเวณหลังหนาประมาณ 2 ซม.จะเพียงพอต่อการสร้างเต้านมขนาดกลางได้แต่ถ้าผู้ป่วยมีหลังหนาและมีเนื้อมากจะสามารถสร้างเต้านมขนาดใหญ่ได้
                    
       การประเมินจำนวนเนื้อเยื่อบริเวณหลัง
       
        พญ.เยาวนุช กล่าวถึงข้อดีของเทคนิคการใช้ไขมันและกล้ามเนื้อหลังว่านอกจากจะใช้เสริมเต้าได้เหมือนกันแล้ว ยังใช้เวลาในการพักรักษาตัวน้อยกว่าแบบที่ใช้ไขมันและกล้ามเนื้อหน้าท้องคือใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 3-4 วันเท่านั้น เนื่องจากกล้ามเนื้อแผ่นหลังมีการสมานและมีเลือดหล่อเลี้ยงได้ดีกว่าแต่วิธีนี้ก็มีข้อจำกัดสำหรับคนที่เป็นนักกีฬาหรือทำงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังจะทำให้ไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่เหมือนก่อนการผ่าตัด
       
        ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเสริมเต้านมหลังได้รับการรักษามะเร็งเต้านมล้วนมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นเพราะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับการถูกตอกย้ำถึงโรคมะเร็งด้วยการเห็นเต้านมที่สูญเสียไปและยังช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีกำลังใจที่ดีขึ้น รวมถึงมีคุณภาพที่ดีขึ้น กลับมาใช้ชีวิตอย่างมั่นใจได้อีกครั้ง
       
        ผศ.พญ.เยาวนุช เน้นว่า อย่างไรก็ตามการรักษามะเร็งเต้านมนอกจากการผ่าตัดกำจัดก้อนมะเร็งออกแล้ว แพทย์มักจะให้การรักษาร่วมกับวิธีอื่นด้วยเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็งลงให้มากที่สุด เนื่องจากโดยทั่วไปมักพบการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมสูงในช่วง 2-3 ปีแรกของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจึงควรรับการตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำหลังผ่านการรักษาโรคมะเร็งไปแล้ว