ไม่เอาเปรียบคนไข้ “รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน” ไม่เอาเปรียบคนไข้ “รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน”
15915Visitors | [2020-02-05] 

ไม่เอาเปรียบคนไข้ “รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน” ปลุกปั้นโรงพยาบาลรักษาเต้านมนิสัยดี 


"ก็เพราะคลุกคลีอยู่ในแวดวงการรักษาโรคเต้านมมากว่า 2 ทศวรรษ โดยได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดและรักษามะเร็งเต้านมระดับท็อปของประเทศ เมื่อ “รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน” คิดจะก่อตั้งโรงพยาบาล เฉพาะทางด้านเต้านม ภายใต้ชื่อ “นมะรักษ์” จึงตั้งปณิธานว่าจะต้องเป็นโรงพยาบาลที่เป็นมิตรกับคนไข้อย่างแท้จริง เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนชั้นกลางที่อยากรักษากับหมอเก่งๆที่มีความเชี่ยวชาญเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์ แต่ไม่มีเวลาต่อคิวยาวเหยียดในโรงพยาบาลรัฐ ขณะเดียวกันก็สู้ราคาแพงหูฉี่ของโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ไม่ได้"



“หลังรับราชการอยู่ในภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาเกือบ 20 ปี หมอเริ่มคิดว่าเราอยากเป็นนายตัวเอง ใช้ความชำนาญที่มีมาทำธุรกิจโรงพยาบาลดีๆ มีธรรมาภิบาล เป็นโรงพยาบาลในฝันทั้งของคนทำงานและผู้ป่วยที่มีอยู่จริง จึงมาจับเข่าคุยกับเพื่อนหมอรุ่นเดียวกันคือ หมอบั๊ก “นพ.วลัญช์ วิไลหงษ์” และน้องเบน “เภสัชกรอรอนงค์ สวัสดิ์พาณิชย์” ว่าจะทำกิจการอะไรดี ที่ทำให้ชีวิตในครึ่งหลังมั่นคง เตรียมเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่า โดยจะต้องเป็นกิจการที่เราถนัด ไม่เอาเปรียบใคร สร้างประโยชน์ให้สังคมได้ แม้จะเป็นภาคเอกชน พวกเรานัดคุยกันครั้งแรกเมื่อปลายปี 2559 จากที่คิดจะทำคลินิกเล็กๆ ก็กลายเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางเต้านมขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราถนัดมากที่สุด และเป็นสเกลที่พอจะทำได้ด้วยต้นทุนที่พวกเรามีกัน ตอนนั้นมองเห็นแนวโน้มทางธุรกิจแล้วว่า ต่อไปจะมีการแข่งขันรุนแรงมาก เพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะมีโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย ต้องมีการแย่งชิงบุคลากรทางการแพทย์ และคนไข้”...คุณหมอเยาวนุชบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของนมะรักษ์

วงการนี้แข่งขันขับเคี่ยวรุนแรงมาก ทำไมกล้าลงทุนเปิดโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านเต้านม

มีคนพยายามเตือนว่า เราพวกทุนน้อยสู้ไม่ได้หรอก อย่าคิดทำเลย เหนื่อยเปล่า ก้มหน้าทำงานแบบเดิมไปเถอะ มั่นคงกว่า ตอนนั้นกลับมานั่งคิดกันต่อว่าจะสู้ หรือจะถอย แต่สิ่งที่เราเห็นตรงกันคือ ยังมีช่องว่างอีกเยอะในตลาดสุขภาพเอกชน ซึ่งมีแนวโน้มที่ราคาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะแพงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งคนชั้นกลางรับมือลำบาก จะไปโรงพยาบาลรัฐก็คิวยาว คนไข้หนาแน่นมาก ขณะเดียวกัน ถ้าให้ไปโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆก็สู้ราคาไม่ไหว หากเป็นโรคร้ายแรงยิ่งหาทางออกยาก โดยเฉพาะในรายคนไข้ที่เป็นพนักงานบริษัท คงลางานลำบาก ถ้าเลือกรักษาโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งคิวยาวเหยียด และต้องเทียวไปมาหลายรอบกว่าจะรักษาจบ

หน้าใหม่อย่าง “นมะรักษ์” จะสู้กับโรงพยาบาลใหญ่ๆได้อย่างไร

โจทย์ของเราคือ การทำโรงพยาบาลเฉพาะทางที่คนชั้นกลางเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทั้งเรื่องราคา และการประหยัดเวลา โดยให้ความมั่นใจว่าเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญของแพทย์ และบุคลากร เทียบเท่ากับโรงเรียนแพทย์ แต่ไม่ต้องจ่ายแพงเหมือนไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ เรามีเครื่องมือทันสมัยไม่แพ้ใคร ทั้งเครื่องแมมโมแกรมระบบดิจิทัล 3 มิติ และเครื่องอัลตราซาวนด์ชนิดความคมชัดสูง อัลตราซาวนด์อัตโนมัติแบบนอนคว่ำและนอนหงาย ตลอดจนการรักษาด้วยเครื่องฉายแสงพร้อมการผ่าตัดในครั้งเดียว นอกจากนี้ เรายังไม่ลืมใส่ใจดูแลเรื่องจิตใจคนไข้เหมือนคนในครอบครัว

โมเดลของศูนย์เต้านมในฝันเป็นอย่างไรคะ

เราสามคนเห็นพ้องตรงกันว่า อยากทำโรงพยาบาลที่ไม่เอารัดเอาเปรียบคนไข้ ราคาพอสมควรเข้าถึงได้ และโรงพยาบาลของเราต้องมีส่วนในการตอบแทนคุณแผ่นดิน ตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป้าหมาย ของพวกเราคือ การสร้างโรงพยาบาลนมะรักษ์ ให้เป็นบูติกฮอสพิทัล ที่ให้การดูแลอย่างครบวงจรด้านเต้านมด้วย มาตรฐานการบริการที่เป็นเลิศ เทคโนโลยีทันสมัย ขณะเดียวกัน เราก็จัดตั้งกองทุนนมรักษา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยากไร้
 
สถานการณ์ของมะเร็ง เต้านมในปัจจุบันรุนแรงขนาดไหน
 
ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ หนึ่งในผู้หญิงไทย แต่โอกาสหายมีค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะหากมีการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ เพื่อให้สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะต้นๆ และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตามมาตรฐาน ในปัจจุบันหากเราสามารถตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆในระยะที่หนึ่ง หมอรับประกันว่ามีโอกาสหายถึง 95% มะเร็งเต้านมไม่ร้ายอย่างที่คิด เพียงแค่เราดูแลอย่างถูกต้อง
 
อะไรคือสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
 
มะเร็งเต้านมอาจมีอาการแสดงได้หลายอย่าง ที่พบบ่อยที่สุดคือ คลำเจอก้อนที่เต้านม ก้อนที่คลำได้มักมีขนาดใหญ่มากกว่า 1-2 ซม. หากเล็กกว่านี้ต้องใช้แมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์จึงตรวจพบ บางรายเกิดแผลบริเวณที่หัวนม หรือมีอาการอักเสบบริเวณลานนม กรณีที่มีเลือดออกจากหัวนมโดยมิได้กดบีบ ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม 2% ให้สังเกตว่าหากหัวนมบุ๋มลง มีการดึงรั้งของผิวหนังให้บุ๋มลง หรือถ้าเต้านมสองข้างเปลี่ยนแปลงขนาดไม่เท่ากัน และเต้านมแข็งขนาดใหญ่ขึ้น มีอาการแสบร้อนที่ผิวหนัง เหล่านี้ล้วนบ่งชี้ถึงอาการของมะเร็งเต้านม
 
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมเกิดขึ้นจากอะไรบ้าง
 
การถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบประมาณ 5% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆเป็นตัวกระตุ้นความเสี่ยง โดยเฉพาะปัจจัยที่ทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงเป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ในรายที่ประจำเดือนมาก่อนอายุ 11 ปี หรือเข้าวัยหมดประจำเดือน หลังอายุ 55 ปี ในรายที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนนานกว่า 9 ปี และในผู้หญิงที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรช้า นอกนั้นก็เป็นความเสี่ยงจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเมือง เช่น รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง, ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ, น้ำหนักตัวมาก โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน อีกหนึ่งความเสี่ยงคือ อายุที่มากขึ้นทำให้ เกิดความเสื่อมตามวัย และมีโอกาสจะถูกจู่โจมโดยมะเร็ง
 
คุณหมอช่วยแนะนำแนวทางป้องกัน และการลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมหน่อยค่ะ
 
ยิ่งอยู่ในสังคมเมืองที่มีความเจริญมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากเท่านั้น ต้องพยายามกลับไปใช้ชีวิตกินอยู่เรียบง่ายให้เหมือนกับรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเรา การป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดคือ การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง, เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ, ลดการทานเนื้อหมูและเนื้อวัว แล้วหันมากินปลาแทน, หลีก เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์, พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน, หลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน ที่สำคัญควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละครั้ง และตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมกับอัลตราซาวนด์ อย่างน้อยปีละครั้ง เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป
ถึงวินาทีนี้ อะไรคือความ ฝันสูงสุดของคุณหมอ
 
พวกเราอยากสร้างโรงพยาบาลนมะรักษ์ให้เป็นโรงพยาบาลที่ให้การดูแลเต้านมและสุขภาพสตรีที่ดีที่สุดในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ในราคาที่เข้าถึงได้ ขณะเดียวกันก็พยายามใช้วิชาชีพของตัวเองทำประโยชน์ให้สังคมมากที่สุด เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน สร้างธุรกิจโรงพยาบาลให้เป็นธุรกิจสีขาวพร้อมช่วยเหลือสังคม.
 
ทีมข่าวหน้าสตรี https://www.thairath.co.th/lifestyle